เชียงใหม่ -มูลนิธิ พอ.สว. จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เดินเท้า ครั้งที่ 21 ช่วยเหลือประชาชนที่ทุกข์ร้อนเจ็บป่วยในพื้นที่ห่างไกลของอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 21-25 ส.ค.66 โดยมีผู้เข้ารับการตรวจรักษาทั้งโรคทั่วไป,ทันตกรรม,ตรวจครรภ์และอื่นๆ รวมกว่าพันราย
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า นายแพทย์ยุทธ โพธารามิก เลขาธิการมูลนิธิ พอ.สว. เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมหน่วยเคลื่อนที่เดินเท้า พอ.สว.ครั้งที่ 21 อำเภออมก๋อย และปล่อยขบวนอาสาสมัคร พอ.สว ณ หอประชุมอำเภออมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยอาสาสมัครแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล อาสาสมัคร พอ.สว จากทั้งภาครัฐและเอกชนในส่วนกลาง อาสาสมัครจากกลุ่มชมรมออฟโรดและบริษัทบัดเจ็ท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.แม่หลอง คณะครู กศน. ผู้นำชุมชน และประชาชน ในพื้นที่อำเภออมก๋อย ร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เดินเท้า พอ.สว. ระหว่างวันที่ 21-25ส.ค.66 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทร์ทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)
โดยครั้งนี้ได้ออกปฏิบัติงานในพื้นที่ตำบลแม่หลอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่หลองหลวง มีประชากรในพื้นที่ จำนวน 2,356 คน มีจำนวน 522 หลังคาเรือน เป็นชาวไทยพื้นที่สูงชนเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอญอ แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีถนนเข้าถึงพื้นที่บางส่วน แต่มีสภาพเป็นถนนดิน ซึ่งในช่วงฤดูฝนยานพาหนะเข้าถึงได้ยากลำบาก หรือบางพื้นที่อาจขาดการติดต่อจากภายนอก ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ ยังมีการเจ็บป่วยอยู่จำนวนมาก ซึ่งทางมูลนิธิพอ.สว. และอำเภออมก๋อย ได้เล็งเห็นถึงความทุกข์เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล จึงได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เดินเท้า ร่วมกับมูลนิธิ พอ.สว. เพื่อให้บริการตรวจรักษาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเจ็บป่วย ทั้งนี้มีประชาชนผู้มารับบริการตรวจรักษาโรคทั่วไปจำนวน 512 ราย บริการทันตกรรม จำนวน 279 ราย ฝากครรภ์/ตรวจครรภ์ จำนวน 7 ราย หัตถการจำนวน 3 ราย แจกแว่นตา จำนวน 300 ราย ตัดผม จำนวน 55 ราย ผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อไปทำการรักษาที่โรงพยาบาล จำนวน 12 ราย รวมทั้งหมด 1,168 ราย