พิษณุโลก – ป่าไม้ลุยรื้อถอน-ตัดโค่นเหี้ยน..สวนยางรุกป่าเขากระยาง กว่า 80 ไร่ หลังตรวจยึดตั้งแต่ปี 58 จนถึงวันนี้ไม่เจอตัวนายทุน จนท.ต้องระดมกำลังโค่นเอง เผยหากคดีสิ้นสุด ตร.หาคนทำผิดได้ อาจถูกวางบิลเรียกเก็บค่าแรงหลังเกือบแสนบาท
วันนี้(25 ส.ค.66)นายวิทยา ณวิพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก สั่งการให้นายวิชาญ ขันธ์แก้ว ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า นำเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการบังคับใช้ มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 รื้อถอนพืชผลอาสินและสิ่งปลูกสร้าง รุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากระยาง ต.บ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เนื้อที่รวมจำนวน 80-2-32 ไร่
หลังจากเจ้าที่ป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก ได้ตรวจยึดพื้นที่ที่ถูกบุกรุกปลูกยางพารา ทำบันทึกคดีส่ง สภ.นครไทย เมื่อปี 58 แต่จนท.ตำรวจยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ และ ระยะเวลาที่กำหนดได้สิ้นสุดลงแล้ว ผู้กระทำไม่ดำเนินการรื้อถอน
พนักงานเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จึงเข้ารื้อถอนพืชผลอาสินแทน ตามคำสั่งที่ 378/2562 ลงวันที่ 9 ตุลาคม2562 ที่แจ้งให้ผู้กระทำผิดออกจากป่าสงวนแห่งชาติ รื้อถอน สิ่งปลูกสร้างและพืชผลอาสิน(ยางพารา)ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขากระยาง อ.นครไทย จังหวัดพิษณุโลก โดยทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพโล่งเตียน ปราศจากสิ่งปลูกสร้าง และพืชผลอาสิน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 62 เพื่อรอการฟื้นฟูให้กลับสภาพเป็นป่าต่อไป
และให้ผู้กระทำผิดออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หากผู้กระทำผิด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องรับผิดชอบชดใช้ หรือออกค่าใช้จ่ายเพื่อการนั้นทั้งหมด พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 25 ต่อปี ของค่าใช้จ่าย และมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 มาตรา 39/1 ฐานขัดคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งสั่งตามมาตรา 25(1) หรือ (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งจำทั้งปรับและยังต้องระวางโทษปรับอีกไม่เกิน วันละ 5,000 บาท
นายวิชาญ ขันธ์แก้ว ผอ.ส่วนป้องกันฯ สจป.4สาขาพิษณุโลก กล่าวว่า เมื่อ 23 มิถุนายน 2558 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดพื้นที่บุกรุกป่าเขากระยาง 693-2-63 ไร่ ต่อมามีผู้มาแสดงสิทธิ ครอบเจ้าของพื้นที่ 20 ราย รวม 460-3-58 ไร่ แต่ยังมีแปลงปลูกยางพาราข้างเคียงอีกจำนวน 5 แปลงพื้นที่รวม 80-2-32 ไร่ ไม่มีผู้ใดมาแสดงตัว
ดังนั้นในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน สจป.4 พิษณุโลก จึงเสนอ นายอำเภอนครไทย ดำเนินการบังคับให้ ม.25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ รื้อถอนตัดฟันต้นยางพารา ในพื้น 5 แปลงดังกล่าว โดยได้รับงบประมาณจากกรมป่าไม้ ให้รื้อถอน ตัดต้นยางพารา หากคดีสิ้นสุด ตำรวจหาผู้กระทำความผิดได้ ผู้ต้องหาอาจถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายย้อนหลัง เป็นค่าดำเนินการที่จนท.รัฐร่วมกันตัดโค่นต้นยางพารา ประเมินค่าแรงรื้อถอนเบื้องต้นเกือบแสนบาท