กาฬสินธุ์-ผู้ว่ากาฬสินธุ์ เต้นสั่ง ปปช.- ปปท.- สตง. ลุยสอบ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 ผอ.โรงเรียน
และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ หลังร่วมกันขายไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ตัดเหี้ยน 17 ต้น ประมูลขาย 22 ต้น ราคา 1.5 แสนบาท จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องเอาผิดวินัย แพ่ง และอาญาให้ถึงที่สุด
จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา ข่าววงใจระบุว่ามีบุคคลของรัฐไม่น้อยกว่า 6 คนเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ให้การปฏิเสธ ถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าของคดี แต่กลับมีปัญหาการตัดไม้พะยูงรายวัน ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี มีการเปิดให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น ในราคา 150,000 บาท ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้(19ส.ค.)นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาไม้พะยูงของกลางหายที่หน้าเสาธง สำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้ นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เข้าติดตามร่วมกับ พล.ต.ต.สุวรรณ์ เชี่ยวนาวินธวัช ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ เร่งสางปัญหานี้ให้เรียบร้อย ซึ่งตำรวจทำสำนวนใกล้แล้วเสร็จ ที่มี ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐและคนในพื้นที่มีส่วนร่วม คาดสามารถออกหมายจับได้ภายในสัปดาห์หน้า
นายศุภศิษย์กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาการตัดไม้พะยูง ภายในโรงเรียนคำไฮวิทยา ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี ไปถึง 17 ต้น ซึ่งตนได้รับรายงานเบื้องต้นจากนายอำเภอหนองกุงศรี ทราบว่าเรื่องนี้ไปเกี่ยวพัน 3 ฝ่าย ที่อนุญาตกันเอง ประกอบด้วย 1.ผอ.โรงเรียนคำไฮวิทยา 2.ผอ.เขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 และ 3. ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ อนุญาตให้ตัดเพื่อหาเงินเข้าหลวงนั้น
กรณีนี้ ก่อนหน้าตั้งแต่มีปัญหาขโมยไม้ของกลาง ตนก็ได้มีข้อสั่งการเป็นหนังสือเวียนไปยังทุกหน่วยงานว่าให้ร่วมกันป้องกันปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง เน้นว่าหากพบต้องช่วยกันป้องกันและแจ้งเบาะแส แต่ในกรณีนี้ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อสั่งการที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามแผนปฏิรูปประเทศในการเพิ่มจำนวนป่าไม้เพื่อลดปัญหา PM 2.5 แต่พบว่าการตัดไม้พะยูงที่โรงเรียนคำไฮวิทยานั้นสาเหตุเกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทางธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ออกหนังสืออนุญาตให้พ่อค้าไม้พะยูงมาตัด ทั้งที่มีหนังสือข้อสั่งการทางจังหวัดห้ามตัดและมีการขนไม้พะยูงไปถึง 17 ต้น เต็มรถสิบล้อ ปรากฏเอกสารเป็นใบเสร็จรับเงินเพียง หนึ่งแสนห้าหมื่นกว่าบาท
“เรื่องนี้จะต้องทำให้กระจ่าง ได้มอบหมายให้ นายธวัชชัย รอดงาม ผวจ.กาฬสินธุ์ ดูแล พร้อมประสานไปยัง ปปช.- สตง.-ปปท. เข้าตรวจสอบ ที่จะให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งทางวินัย อาญาและทางแพ่ง ตามกฎหมายให้ถึงที่สุด”นายศุภศิษย์กล่าว
ส่วนปัญหาการตัดไม้พะยูง มีการวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วไป ในประเด็นไม้พะยูงของกลางหายและกรณีไม้พะยูงของโรงเรียนที่ถูกอนุญาตให้ตัดขาย ทั้งพฤติกรรมเจ้าหน้าที่รัฐกับราคาที่มีการจำหน่ายให้กับพ่อค้าไม้พะยูงในราคาที่ต่ำมาก
รายงานแจ้งว่า ในช่วงบ่ายของ วันที่ 17 สิงหาคม 2566 ในการประชุมคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ที่ห้องประชุมสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ มี นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุม มีนายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ นายอิทธิพล กาฬอ่อนศรี เจ้าพนักงานที่ดินกาฬสินธุ์ นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาครัฐและเอกชน โดยช่วงหนึ่งของการประชุม นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ได้ถามนายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ว่า กรณีไม้พะยูงหายที่ ทต.อิตื้อ รู้ไหมว่าไม้ไปไหน? และหายได้อย่างไร นายไสว ตอบว่าไม่ทราบ ไม่รู้ว่าพื้นที่เค้าทำยังไง?
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ “ว่าหลังจากไม้พะยูงถูกลักลอบตัดและขนย้ายไปเก็บที่หน้าเสาธง ทต.อิตื้อ ก่อนหายไป มีความคืบหน้าถึงไหน” แต่นายไสวปฏิเสธที่จะให้คำตอบ อ้างว่าตนได้ชี้แจงกับอธิบดีแล้ว ทั้งนี้ หลังประชุมคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ลงมาดูท่อนไม้พะยูงประมาณ 25 ท่อน ลักษณะสวยงาม ที่ถูกนำมาวางกองไว้ที่ด้านหลังสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์
จากการถามเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ ได้คำตอบสั้นๆว่า เป็นไม้ที่ถูกลักลอบตัดมาจากทางโน้น มีรถ 6 ล้อขนย้ายมาที่นี่ประมาณ 1 เดือนแล้ว ขณะที่นายไสว สะอาด เปิดเผยว่าไม้กองนี้ มีคนประเมินราคาไว้ 4 หมื่นบาท”
รายงานระบุว่า ไม้พะยูงสวยงามที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ นำมาเก็บไว้และกำลังดำเนินการประมูลนั้น ถูกขนย้ายมาจากโรงเรียนบ้านคำเชียงวัน ต.โนนแหลมทอง อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ โดยระบุว่าที่โรงเรียนแห่งนี้ ไม้พะยูงถูกคนร้ายลักลอบตัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือน พ.ค.66 ถูกตัดไม้พะยูงไป 1 ต้น ต่อมาเดือน ก.ค.66 ถูกคนร้ายลักลอบเข้ามาตัด 2 ต้น ขนย้ายไป 1 ต้น อีกต้นตัดไม่ขาด ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ออกตรวจสอบที่เกิดเหตุและตรวจยึด ก่อนตัดทอนเป็นท่อน มาเก็บไว้ที่ด้านหลังสำนักงานธนารักษ์ฯ ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเหตุคนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงในสถานศึกษา ยังมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.66 เวลา 02.00 น. เกิดเหตุคนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูง 2 ต้น ที่โรงเรียนบ้านหนองจิก ต.หนองจิก อ.บรบือ จ.มหาสารคาม และวันที่ 17 ส.ค.66 คนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงในที่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม ต.เชียงชืน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ตรวจยึดจำนวน 10 ท่อน จากนั้นนำของกลางไปเก็บรักษาไว้ที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มค.1(บรบือ)
สำหรับปัญหาการตัดไม้พะยูงในพื้นที่โรงเรียนคำไฮวิทยานั้น ประชาชนยังวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องในการตัดไม้พะยูง แม้ว่าทาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ได้อ้างเหตุระเบียบพัสดุ แต่พบว่าพื้นที่ไม้พะยูงในโรงเรียนนั้น อยู่ห่างไกลตัวอาคารและเป็นพื้นที่ป่าที่ควรอนุรักษ์ จึงถูกมองว่ามีความเหมาะสมในการตัดไม้พะยูงตามเหตุพัสดุหรือไม่ อีกทั้งด้านราคาขายกับนายหน้าค้าไม้ ราคาไม้พะยูงก็ถูกตีราคาที่ต่ำเทียบเท่าไม้ยูคา จึงต้องการให้มีการตรวจสอบให้ถึงที่สุด