xs
xsm
sm
md
lg

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินอาคารวอเตอร์ฟร้อนท์ พัทยา พบได้มาไม่ถูกต้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ศูนย์ข่าวศรีราชา - 
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการก่อสร้างอาคาร โครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ พัทยา บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก สั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน บริษัท บาลีฮาย แล้วหลังพบมีการออกโฉนดโดยมิชอบ

จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนในการกรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 ก.ย.2551 ให้แก่บริษัท บาลีฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยที่ประชุม ป.ป.ช.ลงความเห็นว่า นายอิทธิพล มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และหลังจากนี้สำนักงาน ป.ป.ช. จะส่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 2 ต่อไปนั้น


วันนี้ (18 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่อธิบดีกรมที่ดิน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย เจ้าพนักงานที่ดิน นายอำเภอบางละมุง นายกเมืองพัทยา และผู้ชำนาญการที่ดิน พิจารณาข้อเท็จจริงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ล่าสุด มีข้อสรุปเป็นมติร่วมกันว่าให้เพิกถอนโฉนดแปลงที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้ง “วอเตอร์ฟรอนด์ คอนโดมิเนียม” บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก ท่าเรือบาลีฮาย พัทยาใต้ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

เพื่อให้เป็นไปตามการขยายผลคำสั่งของ ศาลปกครองกลาง ที่ระบุว่ามีการออกโฉนดโดยมิชอบบนที่ดินของบริษัท อาชาแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นของนายวัฒนา อัศวเหม จนทำให้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐในขณะนั้นมีความผิดจำนวนหลายราย เกี่ยวกับการออกใบ น.ส.3 บนที่ดินเลขที่ 443 ซึ่งต่อมาเป็นโฉนดเลขที่ 15049 และ น.ส.3 เลขที่ 444 ซึ่งออกเป็นโฉนดเลขที่ 9592

โดยพบว่า ที่ดินทั้ง 2 แปลงมาจากที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 93 แปลงเดียวกัน ก่อนจะมาแตกแยกออกเป็นอีก 7 แปลงขายต่อกันมาเป็นทอดๆ ซึ่งจากการตรวจสอบและสืบสวนของ ป.ป.ช.พบว่า ที่ดินทั้งหมดซึ่งมีข้อมูลแจ้งว่ามี นายสัมฤทธิ์ (ขอสงวนนามสกุล) ใช้ที่ดินทำเกษตรกรรมมาตั้งแต่ปี 2496

และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากภาพถ่ายทางอากาศ และสภาพของพื้นที่ รวมทั้งคำให้การของพยานหลายปาก พบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเชิงเขาที่ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ ขณะที่ช่วงระหว่างเวลาตามที่กล่าวมาข้างต้นไม่พบภาพถ่ายทางอากาศที่ระบุให้เห็นว่ามีการทำประโยชน์จริงแต่อย่างใด


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ในชั้นศาล และอาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาอีกระยะก่อนจะมีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องของกรรมสิทธิ์ที่ดินว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร

แต่หากผลออกมาเหมือนที่ศาลฎีกาพิพากษาในกรณีที่ดินของบริษัท อาชาแลนด์ จำกัด ว่ามีการออกโฉนดโดยมิชอบ และจากการสอบสวนของ ป.ป.ช.ชี้ชัดได้ว่าโฉนดเหล่านี้เกี่ยวข้องเป็นแปลงเดียวกัน และมีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบเช่นกันจนเรื่องขึ้นสู่ชั้นศาล ต้องจับตาดูอีกครั้งว่าสุดท้ายแล้วศาลจะพิจารณาอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น