ศูนย์ข่าวศรีราชา - สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา เผยเหตุทะเลบางแสน เปลี่ยนเป็นสีเขียวมัทฉะว่าเกิดจากแพลงก์ตอนที่มีชื่อว่า "𝑵𝙤𝒄𝙩𝒊𝙡𝒖𝙘𝒂 𝒔𝙘𝒊𝙣𝒕𝙞𝒍𝙡𝒂𝙣𝒔" เป็นแพลงก์ตอนประจำถิ่นเกิดเป็นประจำทุกปีแต่จะอยู่ในช่วงเวลาไม่นานขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม มั่นใจ พ.ย.นี้กลับมาใสดังเดิม
วันนี้ (14 ส.ค.) สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา แจ้งเหตุทะเลบางแสน จ.ชลบุรี ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีที่ทะเลบางแสนกลายเป็นสีเขียวในช่วงหลายวันที่ผ่านมาว่า เกิดจากแพลงก์ตอนที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "𝑵𝙤𝒄𝙩𝒊𝙡𝒖𝙘𝒂 𝒔𝙘𝒊𝙣𝒕𝙞𝒍𝙡𝒂𝙣𝒔" (น็อก-ติ-ลู-กา-ซิน-ทิล-แลนส์) ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนที่มีสาหร่ายอยู่ในตัวเองจึงทำให้สามารถสังเคราะห์แสงได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีแสงแดดออกจะยิ่งแบ่งตัวเต็มทะเล จนกลายเป็นแพลงก์ตอนบลูม (Plankton bloom)
โดยแพลงก์ตอนที่มีชื่อว่า "𝑵𝙤𝒄𝙩𝒊𝙡𝒖𝙘𝒂 𝒔𝙘𝒊𝙣𝒕𝙞𝒍𝙡𝒂𝙣𝒔" เป็นแพลงก์ตอนประจำถิ่นที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งชาวประมงเรียกกันติดปากว่า “ขี้ปลาวาฬ” ขณะที่ปรากฏการณ์ทะเลสีเขียวจะอยู่เพียงช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบทั้งแสงแดด และธาตุอาหารในน้ำทะเลที่เปรียบเทียบเสมือนปุ๋ยชั้นดีที่มีผลต่อการเจริญเติบโต และหากมีคลื่นแรงที่ตีอาหารในโคลนทรายมาเพิ่มยิ่งทำให้แพลงก์ตอนได้รับสารอาหารเพิ่มมากขึ้น
ส่วนกรณีที่มีนักท่องเที่ยวบางรายพากันลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่ทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวนั้น แม้หากจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่สำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ จึงอยากให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ แพลงก์ตอนจะย่อยสลายเองตามธรรมชาติและจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเชื่อว่าทะเลบางแสนจะกลับมาใสเช่นเดิมในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้