ระยอง - ททท.ระยอง เปิดงานส่งเสริมการท่องเที่ยว 'ยมจินดา มาแล้วจะรัก' มุ่งกระจายรายได้สู่ชุมชนควบคู่กับการอนุรักษ์ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่เมืองระยองยาวนานกว่า 100 ปี
เมื่อเวลา 20.00 น.วานนี้ (12 ส.ค.) นายอนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดงาน "ยมจินดา มาแล้วจะรัก" ซึ่งจัดโดย ททท.สำนักงานระยอง เทศบาลนครระยอง บริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จก.(มหาชน) และชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองเก่า ที่บริเวณลานวัฒนธรรมถนนยมจินดา ย่านเมืองเก่า ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และกระตุ้นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมกับอนุรักษ์ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่เมืองระยองยาวนานกว่า 100 ปี ทั้งยังเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการร้านค้าในชุมชนไปจนถึงแหล่งชุมชนใกล้เคียง
อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวเมืองเก่าให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น และยังสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเห็นคุณค่าของเมืองในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของเมืองระยอง รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าภาพรวมในพื้นที่ตัวเมืองระยอง
งานดังกล่าวจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 ส.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น.ที่ถนนยมจินดา อ.เมือง จ.ระยอง ภายในงานจะแบ่งกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 มีกิจกรรมภายใต้คอนเซ็ปต์ "ศาสตร์ศิลป์ ถิ่นระยอง ตะหลาดโรงสี งานศิลปะ" จากกลุ่มศิลป์ระยอง Work shop ดนตรี การแสดงโบโซ่ และมาสคอต
โซนที่ 2 "วิถีถิ่นระยอง ลานวัฒนธรรม&บ้านสัตย์อุดม" มีโซนอาหารพื้นบ้าน ย่านป่าขนมไทย การแสดงดนตรี และจุดถ่ายภาพ และโซนที่ 3 "วิถีแห่งศรัทธา ศาลเจ้าแม่ทับทิม" มีโซนอาหารจำหน่ายและการแสดงดนตรีจีน พร้อมกับมีการจุดชมการแสดงต่างๆ ด้วย
ภายในพิธีเปิดยังมี นายวัชรพล สารสอน ผอ.ททท.สำนักงานระยอง นางกัญชลา สุขิตรกูล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระยอง นายโชดก วิริยะพงษ์ ประธานชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองเก่า และ น.ส.พรทิพย์ วีระพันธุ์ ผจก.ฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จก.(มหาชน) เข้าร่วม
สำหรับถนนยมจินดา จ.ระยอง เป็นย่านเมืองเก่า ซึ่งในอดีตเป็นแหล่งการค้าแห่งแรกของเมืองชายทะเลตะวันออก เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมอายุกว่า 140 ปีที่อยู่คู่ชุมชน ตึกเก่ากี่พ้ง สไตล์ชิโน-โปรตุกิส ไปจนถึงบ้านบุญศิริสถาปัตยกรรมเก่าแก่