นครพนม - เตรียมรับมือน้ำท่วม คาดระดับแม่น้ำโขง จ.นครพนม สูงสุดที่ 12.9 เมตร 13 ส.ค.นี้ สูงกว่าจุดวิกฤตเกือบเมตร ด้านรองอธิบดีกรมชลประทานสั่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟลว์ (hydroflow) 6 เครื่อง เร่งระบายน้ำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นายศาสตรา พรหมรักษ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครพนม เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้น้ำโขงเพิ่มขึ้นรวดเร็วเกิดจากฝนที่ตกติดต่อกันนานเกิน 7 วัน ทั้งฝั่งไทยและฝั่ง สปป.ลาว รวมถึงประเทศจีน จึงกลายเป็นมวลน้ำจากหลายส่วนไหลมารวมกัน ของไทยก็ไล่มาตั้งแต่ เชียงราย น่าน หนองคาย เลย จนมาถึงนครพนม ทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำในลำน้ำที่หน้าบานประตูระบายน้ำที่ชลประทานนครพนมดูแล ล่าสุดวันนี้ (10 ส.ค.) มีปริมาณน้ำมากกว่า 85% ทุกบานประตู
มีประตูระบายน้ำบังกอสูงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 117% ส่วนระดับน้ำโขงก็เป็นไปตามที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) คาดการณ์ คาดว่าวันที่น้ำจะขึ้นสูงสุดเป็นวันที่ 13 สิงหาคม 2566 ประมาณ 12.9 เมตร เป็นปริมาณน้ำที่สูงกว่าระดับวิกฤตของจังหวัดนครพนม แต่จะไม่ขึ้นถึงระดับผิวจราจรบริเวณอำเภอเมืองนครพนม และหากน้ำเกินจุดวิกฤตของจังหวัดนครพนมจริงตามคาด จะสูงจากระดับวิกฤตประมาณ 94 เซนติเมตร-1 เมตร
จะส่งผลให้น้ำในแม่น้ำโขงไหลเข้าทางท่อระบายน้ำของเทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการประสานการปฏิบัติงานกับเทศบาลเมืองนครพนม ต่อการเฝ้าระวังป้องกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยแต่ละจุดที่เป็นท่อระบายน้ำที่มีประตูปิด-เปิด จะทำการปิดประตูระบายน้ำและเดินเครื่องสูบน้ำออก
ส่วนของประตูระบายน้ำชลประทานที่น้ำจะไหลลงแม่น้ำโขง 4 แห่ง ทางรองอธิบดีกรมชลประทานได้สั่งการให้นำเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟลว์ (hydroflow) จำนวน 6 เครื่องมาประจำไว้ที่ประตูระบายน้ำทั้ง 4 แห่งแล้ว ประกอบไปด้วย ที่ห้วยลังกา อำเภอบ้านแพง 1 เครื่อง ที่ห้วยทวย อำเภอท่าอุเทน 1 เครื่อง อำเภอเมืองนครพนมที่ห้วยบังกอ 2 เครื่อง และอำเภอธาตุพนมที่ห้วยบังฮวง 2 เครื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเคลื่อนย้ายมาจากส่วนกลาง คาดว่าสายของวันนี้จะมาถึงและสามารถเริ่มประกอบติดตั้งเครื่องให้พร้อมใช้งานได้ในทันทีภายใน 1-2 วันนี้
หากเกิดเหตุกาณ์ปริมาณน้ำเกินระดับวิกฤตจริง จะทำการปิดบานประตูระบายน้ำของชลประทานและเดินเครื่องสูบน้ำในลำน้ำออก โดยตอนนี้เป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด เมื่อเกิดเหตุจะสามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมให้น้อยที่สุด