ลำปาง – อุทาหรณ์คนเลี้ยงช้าง..ทีมสัตวแพทย์ รพ.มูลนิเพื่อนช้าง ต้องตัดสินใจทำการุณยฆาต “ช้างพังสีเวย”วัย 65 ปี ฉีดยาให้จากไปอย่างสงบกลางดึก หลังถูกส่งตัวเข้ารักษาอาการท้องอืด-กินไม่ได้-อาหารไม่ย่อย ได้เพียง 20 วัน ตรวจพบลำไส้แตก
กลางดึกใกล้เที่ยงคืนที่ผ่านมา(4 ส.ค.66) ทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลมูลนิธิเพื่อนช้าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ต้องประสานเจ้าของช้าง “พังสีเวย” อายุ 65 ปี เพื่อยินยอมให้ฉีดาให้พังสีเวย จากไปจากสงบท่ามกลางความเศร้าของทีมสัตวแพทย์ที่ให้การรักษา-ควาญ/จนท. หลังจากถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาเมื่อเวลา 23.00 น.เศษ วันที่ 15 ก.ค.66 หรือ 20 วันที่ผ่านมา
ซึ่งจากการสอบถามเจ้าของช้าง ทราบว่า ก่อนส่งตัวเข้า รพ.มูลนิธิเพื่อนช้าง พังสีเวยถ่ายเป็นก้อนเล็กมาประมาณ 3-4 วัน และคืนวันที่ 14 ก.ค. ช้างยังถ่ายได้ แต่พอเช้าวันที่ 15 ก.ค.ก่อนมา ช้างไม่ถ่าย มีอาการอ้าปาก ผุดลุกผุดนั่ง ซึม ไม่กินอาหาร ไม่กินน้ำ จึงติดต่อทาง มช.ประสานส่งเข้ารักษา
เมื่อมาถึง สัตวแพทย์โรงพยาบาลช้างของมูลนิธิเพื่อนช้าง ได้ตรวจร่างกายพังสีเวย พบว่าช้างมีอาการซึม ไม่กินอาหาร ไม่กินน้ำ ไม่ถ่าย และไม่ผายลม วัดอุณหภูมิได้ 36.7 องศาเซลเซียส (ปกติ) ชีพจร 37 ครั้ง/นาที (มากกว่าปกติเล็กน้อย ปกติ 25-35 ครั้ง/นาที) เยื่อเมือกสีปกติ ก่อนฉีดวิตามินให้ 1 เข็ม ให้สารน้ำ 30 ลิตร ฉีดยากระตุ้นระบบทางเดินอาหาร ฉีดยาลดปวดเกร็งในช่องท้อง จากนั้นทำการล้วงสวนเจอแต่เศษหญ้า
วันต่อมาหลังกินมะขามเปียก-กล้วย พังสีเวยถ่ายออกมาเอง 1 กอง หนัก 3 กก. เป็นก้านหญ้าแก่ ต้นข้าวโพด ใบข้าวโพด และกล้วยที่ไม่ย่อย จากนั้นสัตวแพทย์ได้รักษาตามอาการมาตลอด ทั้งให้ยาปฎิชีวนะ การประคบสมุนไพร สวน ฯลฯ โดยมีทีมสัตวแพทย์ของสถาบันคชบาลแห่งชาติ มาช่วยในการรักษาด้วย
สุดท้าย คืนที่ผ่าน ซึ่งเป็นการรักษาครบ 20 วัน อาการพังสีเวยไม่ดีขึ้นและเริ่มทรุด จึงได้ระดมทีมสัตวแพทย์เพื่อจะช่วยเอาก้อนในท้องพังสีเวยออกมาให้ได้ โดยเริ่มจากทำการสวน ตรวจเลือด ตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ ผลที่ได้พบว่าลำไส้ใหญ่ส่วน CECUM (ไส้หมัก; ลำไส้ใหญ่ส่วนแรกที่ต่อมาจากลำไส้เล็ก) มีการฉีกขาด(แตก) มาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว พบ น้ำจากทางเดินอาหารอยู่ในช่องท้อง
และพบ fibrin (โปรตีนที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว) จำนวนมาก (ผล ultrasound ด้านขวาจะเจอเยอะกว่าด้านซ้าย) บริเวณผนังลำไส้ที่ฉีกขาดมีเนื้อเยื่อพังผืดมาเกาะ ท้องที่ขยายใหญ่ เป็นน้ำที่หลุดจากผนังลำไส้มาอยู่ในช่องท้อง ไม่ใช่แก๊สภายในลำไส้ ไตมีการบวมอักเสบ เนื่องจากมีอาการป่วยต่อเนื่องมานาน ลำไส้ใหญ่มากบังตับทำให้มองไม่เห็นตับ ไม่พบก้อนมูลที่เป็นปัญหา คาดว่าก้อนมูลอาจอยู่บริเวณลำไส้ส่วน CECUM (ไส้หมัก) หรือ ก่อนเข้าลำไส้ส่วน rectum (ไส้ตรง)
ซึ่งห้วงที่ผ่านมา ช้างอยู่ได้เนื่องจากการคุมการติดเชื้อและได้สารน้ำทุกวัน แต่หากปล่อยนานกว่านี้ช้างจะทรมาน ลำไส้ที่ขยายใหญ่ดันไปกดช่องอก ทำให้ช้างหายใจไม่ออกและช็อกเสียชีวิต ดังนั้นเพื่อไม่ให้พังสีเวยซึ่งอายุมากแล้ว ต้องทนทรมานอีกต่อไป จึงนำความเห็นของทีมสัตวแพทย์หารือกับเจ้าของช้าง เพื่อทำการุณฆาตพังสีเวยดังกล่าว
ทั้งนี้สัตวแพทย์หญิงเครือทอง ขยัน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลช้างมูลนิธิเพื่อนช้าง ได้เตือนเจ้าของช้างช่วงนี้พบช้างท้องอืดท้องผูกมาก ขอให้เจ้าของโปรดระมัดระวังการให้อาหารช้าง และระวังการนำช้างไปหาอาหารกินเอง เพราะความหิว ช้างอาจกินอาหารย่อยยากเข้าไป หากช้างอายุมากควรบดอาหารให้ช้าง ไม่ควรนำอาหารย่อยยาก เช่น ต้นข้าวโพดก้านหญ้า ทางมะพร้าว ต้นกล้วย เถาวัลย์ จะย่อยยากและเกิดปัญหา ช้างเกิดอาการท้องผูกถ่ายไม่ออกเกิดความทุกข์ทรมาน รวมทั้งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้