ศูนย์ข่าวขอนแก่น - น้ำนมดิบขาดตลาดในรอบสิบปี ปธ.สหกรณ์โคนมขอนแก่นเผยสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมทนขาดทุนไม่ไหวเพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่หยุด ต้องหาอาชีพอื่นทำแทน วอนเร่งตั้งรัฐบาลใหม่ให้สำเร็จจะได้เข้ามาแก้ปัญหาให้เกษตรกร
วิกฤตน้ำนมดิบขาดแคลนในรอบหลายสิบปี วอนเร่งตั้งรัฐบาลด่วน เกษตรกรผู้เลี้ยงแบกรับต้นทุนไม่ไหวเลิกเลี้ยงไปหลายราย สมาชิกที่เคยส่งน้ำนมดิบให้ก็หยุดส่งเกือบ 40 ราย แต่ทั้งนี้ที่เหลือที่รอเพราะยังมีหนี้สินที่ต้องแบกรับและรอปรับราคาน้ำนมดิบจากมติมิลค์บอร์ดขอขึ้นเป็น 21.25 บาทต่อกิโลกรัมเมื่อปี 64 แต่ถูกยุบสภา และเรื่องก็ยังไม่มีความชัดเจน
มีรายงานแจ้งว่า ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นได้ประสบปัญหาน้ำนมดิบขาดแคลน ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำไม่มีนมสดพร้อมดื่มขาย บรรดาร้านค้าต่างบอกว่าช่วงนี้น้ำนมดิบขาดแคลนหนัก โดยในส่วนของราคาน้ำนมดิบ รับซื้ออยู่ที่ 19 บาทต่อกิโลกรัม บวกลบตามคุณภาพของน้ำนม ส่วนราคาจำหน่ายอยู่ที่ 20.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่จำนวนสมาชิกของสหกรณ์โคนมขอนแก่นจากเดิมที่เคยส่งน้ำนมดิบให้จำนวน 147 รายแต่ล่าสุดเหลือเพียง 109 รายเท่านั้น
มูลเหตุที่สมาชิกบางส่วนหยุดส่งให้สหกรณ์โคนมขอนแก่นเนื่องจากแบกรับต้นทุนการผลิตไม่ไหว เจอโรคระบาดที่ อาหารเลี้ยงสัตว์ปรับราคาขึ้นสูงถึง 40% จากเดิมที่สหกรณ์โคนมขอนแก่นรับน้ำนมจากสมาชิกเฉลี่ยวันละ 3,500 ตันต่อวัน เหลืออยู่เพียง 2,600 ถึง 2,700 ตันต่อวันเท่านั้น
นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด ตั้งอยู่บนถนนมิตรภาพ ต.บ้านค้อ อ.เมือง
เปิดเผยถึงสถานการณ์การเลี้ยงวัวนมของทางสหกรณ์ฯ ในปัจจุบันนี้ถือว่าเข้าขั้นวิกฤต เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเลิกเลี้ยงไปจำนวนไม่น้อย เหตุผลทนแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว เลี้ยงแล้วขาดทุน ต่างรอความหวังจากรัฐบาลใหม่ กำหนดราคาน้ำนมดิบใหม่ ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นชอบจากทางรัฐบาลก่อน
ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 64 ก่อนยุบสภา ได้มีการปรับราคาน้ำนมขึ้น 2 บาทกว่า และมีการเสนอให้ปรับขึ้นราคาแต่ยุบสภาเสียก่อน เรื่องยังค้างอยู่ จึงเป็นสาเหตุที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องรอ หากการปรับราคาน้ำนมดิบขึ้นก็เชื่อว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจะอยู่ได้ แต่ต้องปรับราคานมโรงเรียนตามไปด้วย ซึ่งเรามีบทเรียนมาแล้วช่วงตุลาคม 2565 มีมติปรับขึ้น 50 สตางค์ แต่ไม่ได้ปรับในส่วนของนมโรงเรียน ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนต่างที่ปรับขึ้นถึงถุงละ 31 สตางค์
“ในระยะเวลา 3 เดือนเราขาดทุนไปกว่า 2 ล้านบาท หากมีการประกาศขึ้นราคาตามมติมิลค์บอร์ดที่ยื่นไปเมื่อ 14 มี.ค. 64 หากผ่านความเห็นชอบก็จะช่วยเกษตรกรได้อีกระดับหนึ่ง การปรับราคานั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่อยากให้มีการควบคุมราคาวัตถุดิบด้วย” นายคำพันธ์กล่าว
ด้านนางบุญเรียน บุตรโคตร อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 680 ม.20 บ้านซำจาน ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น หนึ่งในสมาชิกของสหกรณ์ฯ ที่จำใจขายวัวนมที่สร้างอาชีพสร้างรายได้หลักให้ครอบครัวบอกว่า สาเหตุที่ต้องจำใจขายวัว เลิกเลี้ยงนั้น เนื่องจากอาหารสำหรับเลี้ยงปรับราคาขึ้นทุกสัปดาห์ ไม่มีเงินเลี้ยงให้ได้คุณภาพตามเกณฑ์ของสหกรณ์ที่รับซื้อ ต้องดูส่วนประกอบต่างๆ ไม่ใช่แค่น้ำนมดิบ เพราะจะมีค่าไขมัน ค่าข้อมูลอื่นๆ อีกมากมายถึงจะได้คุณภาพตามที่สหกรณ์ต้องการ แม้ว่าสหกรณ์มีเงินช่วยเหลือ แต่ก็ไม่อยากเป็นหนี้ เพราะนมถ้าเราไม่มีคุณภาพก็ขายไม่ได้ราคา
“ลูกหลานก็ไม่อยากทำ ทำแล้วไม่ได้เงิน ไปทำงานอย่างอื่นกันเกือบหมด หากเศรษฐกิจดีขึ้นฉันก็จะกลับมาทำเหมือนเดิม ที่ผ่านมามีการหยิบยืมเงินมาทำฟาร์มโคนมตามมาตรฐานการเลี้ยงจึงจะสามารถเลี้ยงได้ และการให้อาหารการเลี้ยงดู ต้องเลี้ยงตามขั้นตอนที่ทางสหกรณ์แนะนำเพื่อให้ได้น้ำนมดิบตามคุณภาพจะได้ขายได้ราคา” นางบุญเรือนกล่าว