ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ผอ.รพ.ขอนแก่นยันระบบเตาเผาทำลายขยะติดเชื้อภายในโรงพยาบาลมีระบบการทำงานได้มาตรฐาน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่ฝ่ายตรงข้ามปล่อยข่าวในสังคมออนไลน์ เผย รพ.ขอนแก่นมีขยะติดเชื้อวันละประมาณ 1,300 กิโลฯ อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจวัดค่าระดับความเข้มข้นกลิ่นจากโรงกำจัดขยะแห่งเดียวกันนี้ของนักวิชาการสำนักอนามัยและสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ระบุชัดกลิ่นรบกวนเกินเกณฑ์มาตรฐาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่บุคลากรทางการแพทย์ที่พักอยู่ภายในแฟลตร้องเรียนสื่อมวลชนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเรื่องกลิ่นจากโรงบำบัดกำจัดขยะติดเชื้อ ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลขอนแก่น ติดกับตึกผู้ป่วยและที่พักอาศัยของบุคลากร ล่าสุดวันนี้ (24 ก.ค.) นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ได้เชิญสื่อมวลชนไปดูอาคารบริหารจัดการขยะติดเชื้อ โดยโรงบำบัดขยะแห่งนี้มีการนำเครื่องกำจัดขยะแบบไอน้ำมาใช้ในกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อของโรงพยาบาล
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อขยะติดเชื้อขนเข้ามาถึงโรงบำบัด จะมีการคัดแยกพร้อมกับการชั่งน้ำหนัก ก่อนจะเริ่มทำลายขยะติดเชื้อด้วยพลังงานไอน้ำ ขยะติดเชื้อจะถูกนำเข้าเครื่องกำจัดขยะที่อยู่ด้านบน ด้วยระบบลิฟต์ไฮดรอลิก จากนั้นจะเทขยะติดเชื้อเข้าในเครื่องกำจัดขยะด้วยระบบไอน้ำเพื่อทำลายเชื้อด้วยไอน้ำ จากนั้นจะทำการปิดฝาเครื่องเพื่อทำลายเชื้อด้วยไอน้ำอุณหภูมิสูงภายใต้แรงดัน ซึ่งหลังจากที่ปิดฝาเครื่องแล้ว เครื่องจะเริ่มต้นทำงานด้วยการบดขยะเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิว
ทั้งนี้เพื่อให้ไอน้ำเข้าถึงขยะติดเชื้อ เข้าถึงขยะทุกจุด รักษาอุณหภูมิหล่อเย็น ระบายน้ำทิ้งแล้วเทขยะออกจากเครื่องจนครบกระบวนการ หลังจากการบดสับเสร็จเครื่องจะทำลายเชื้อโรคด้วยอุณหภูมิสูง 138 องศาเซลเซียส ภายใต้แรงดัน 3.8 บาร์ เป็นระยะเวลา 10 นาที เมื่อบำบัดครบกระบวนการเป็นเวลา 40 นาทีฝาบนก็จะเปิดเพื่อระบายไอน้ำ ส่วนฝาล่างก็จะเทขยะที่ผ่านการกำจัดเชื้อหมดแล้วลงถังด้านล่าง
ตามกระบวนการกำจัดจะมีไอน้ำออกมาเล็กน้อย Hood จะสามารถดูดไอน้ำให้หมดภายใน 5 วินาที จากนั้นจะทำการโกยขยะที่ทำลายเชื้อหมดแล้ว มัดปากถุงก่อนทิ้งเป็นขยะทั่วไป ซึ่งกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 40 นาทีในการจัดการกำจัดขยะติดเชื้อ โรงพยาบาลขอนแก่นมีขยะติดเชื้อวันละประมาณ 1,300 กิโลกรัม
"ที่สื่อนำภาพการปล่อยควันดำออกมาจากปล่องควันนั้น ไม่ใช่ปล่องควันของโรงกำจัดขยะติดเชื้อโรงพยาบาลขอนแก่น เชื่อว่าข่าวที่ปล่อยออกไปในสังคมออนไลน์เป็นฝืมือของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการจะกลั่นแกล้งผมมากกว่า" นพ.เกรียงศักดิ์ระบุ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมระบุว่าข้อมูลที่ นพ.เกรียงศักดิ์ให้สัมภาษณ์สื่อในวันนี้ตรงข้ามกับผลตรวจสอบผลกระทบทางกลิ่นจากโรงบำบัดขยะดังกล่าวของทีมงานผู้ตรวจสอบจากสำนักอนามัยและสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ที่เดินทางมาตรวจสอบเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยผลการตรวจประเมินกลิ่นพบว่าจุดที่ทำการตรวจวัดมีค่าระดับความเข้มข้นกลิ่นเกินเกณฑ์มาตรฐาน กลิ่นรบกวนตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุขฯ (มาตรฐานกลิ่นรบกวนต้องไม่เกิน 4 D/T) ประกอบกับผลการตรวจวิเคราะห์สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายทั้งหมด (TVOC) มีค่าอยู่ในช่วง 0.05-1.00 ppm และยังตรวจพบสาร Acrolein ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดกลิ่น (Odorant) ลักษณะกลิ่นคล้ายกลิ่นคาวปลา
ทั้งนี้ Acrolein เป็นสารระเหยที่เกิดจากการสลายตัวของกลีเซอรอลในโมเลกุลของน้ำมันหรือไขมันเมื่อได้รับความร้อนสูง โดยตรวจพบมีค่าความเข้มข้นอยู่ในช่วง 0.27-1.24 ppm ซึ่งสูงกว่าค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถได้กลิ่น (Odor threshold) อยู่ที่ 0.16 ppm และค่าความเข้มข้นที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจอยู่ที่ 0.1 ppm (OSHA)
นอกจากนี้ ทีมผู้ตรวจสอบกลิ่นจากกรมอนามัยยังสรุปผลตรวจอีกว่าสามารถรับรู้กลิ่นตั้งแต่ระดับความแรงของกลิ่น 3 ขึ้นไป ทั้งนี้ ข้อมูลผลการตรวจวัดกลิ่นทั้ง 3 วิธีการข้างต้นสอดคล้องกัน จึงสามารถบ่งชี้ว่าระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยเทคโนโลยีทำลายเชื้อด้วยไอน้ำของโรงพยาบาลขอนแก่นมีขั้นตอนการดำเนินการที่ก่อให้เกิดกลิ่นรบกวน สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงได้จริง
ทางทีมงานผู้ตรวจสอบกลิ่นจากสำนักงานอนามัยและสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย จึงมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาเพิ่มมาตรการและวิธีการควบคุมมลพิษทางอากาศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกำหนดมาตรการเฝ้าระวังปัญหากลิ่นรบกวนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนและป้องกันปัญหาเหตุรำคาญแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง