เชียงราย - สำเร็จแล้ว-รอแค่ อย.ไฟเขียว..สำนักวิจัยฯ ม.เทคโนฯพระจอมเกล้า-ม.เกษตรศาสตร์ จับมือ ม.แม่ฟ้าหลวง นำกลุ่มผู้พิการทางสายตา (SIG) ต่อยอดประสาทสัมผัสสุดพิเศษ พัฒนาชาอู่หลง/ชาแดง จากดอยแม่สลอง ออกแบบรสชาติ-ปั้นผลิตภัณฑ์ “ชาสมุนไพรประจำวัน-Sence Series”
เทศกาลชาและกาแฟ Tea & Festival 2023 ที่จัดขึ้น ณ อาคารพลเอก เภา ชูศรี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ซึ่งนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าฯ เชียงราย เป็นประธานเปิด ก่อนนำ ผศ.ดร.มัชธิมา นราดิศร อธิการบดี ม.แม่ฟ้าหลวง นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดฯ นำผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ระหว่าง 7-8 ก.ค. 66 นี้ นอกจากจะมีการบรรยายและเสวนาเกี่ยวกับ “เชียงราย” ที่เป็นแหล่งปลูกชาและกาแฟมากที่สุดในประเทศไทยแล้ว
เครือข่ายของสถาบันชา-กาแฟ มฟล.จะนำนวัตกรรม การผลิต ผลผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเพื่อพัฒนาในทุกมิติมานานกว่า 20 ปี มาจัดแสดงให้เห็นพัฒนาการของผลิตภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน เช่น บริษัท KH-Roberts (Thailand) จำกัด นำกาแฟที่ตกแต่งกลิ่นบรรจุหลอดใส่เครื่องชงแล้วจะได้น้ำกาแฟที่มีกลิ่นต่างๆ ตามที่ต้องการ เช่น สตรอว์เบอร์รี ส้ม ฯลฯ
ขณะที่ศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งขึ้น ได้นำกลุ่มผู้มีความสามารถทางประสาทสัมผัสหรือ sensory intelligence group (SIG) ซึ่งมีความสามารถในการรับรู้รสและกลิ่นได้ดี ชงชาให้ได้รสชาติเฉพาะในแต่ละวัน มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
ผศ.ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคมฯ กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องชาตั้งแต่ปี 2563 ต่อมาได้รับงบประมาณจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อต่อยอดไปยังผู้ที่พิการทางสายตาจนก่อตั้ง SIG ขึ้น โดยผลการวิจัยพบว่าผู้ที่สูญเสียการมองเห็นจะมีศักยภาพในด้านการฟัง การรับรู้กลิ่นและรส ดีกว่าคนปกติทั่วไป
กระทั่งได้ร่วมกับสถาบันชาและกาแฟ มฟล.จึงได้นำผู้พิการทางสายตาที่เข้าร่วมโครงการฯ ลงพื้นที่เชียงราย ศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาเป็น "Sence Series" ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอใบรับรองบรรจุภัณฑ์จากองค์การอาหารและยา (อย.) โดยเป้าหมายของโครงการวิจัยทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการทางสายตาได้แสดงศักยภาพและได้มีงานทำจนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ หรือใช้เป็นอาชีพเสริมหลังจากที่เคยทำงานประจำหลากหลาย เช่น ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล อยู่บ้าน ทำงานเอกชน ฯลฯ
ผศ.ดร.ธิติมากล่าวอีกว่า หลังดำเนินโครงการพบว่าเริ่มมีภาคเอกชนติดต่อขอรับตัวสมาชิกของ SIG บางคนไปร่วมงานแล้วเพราะถือว่าเป็นผู้มีประสาทสัมผัสที่เหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไป นอกจากจะมีความสามารถในการรู้กลิ่นและรสดีเลิศแล้ว ยังสามารถแยกแยะประเภทของกลิ่นและรสได้อย่างเหนือชั้นอีกด้วย ส่วนในอนาคตก็มุ่งหวังให้ผลิตภัณฑ์สามารถจำหน่ายและสร้างรายได้ให้ SIG เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันได้ใช้ใบชาจากดอยแม่สลองทั้งแบบอู่หลงและชาแดง มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของฝาก แต่ยังมีตลาดอยู่ในวงจำกัด
ด้าน น.ส.กรรณิการ์ วงเพ็ญ และ น.ส.อลิสา ศิวาธร ซึ่งลงชงชารสชาติต่างๆ ทั้ง 5 วันตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ระบุว่าเดิมพวกตนทำงานธุรกิจส่วนตัวและรู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วม SIG เพื่อให้มีเวทีแสดงศักยภาพของตัวเอง ปัจจุบันมีคนในกลุ่มจำนวน 21 คนแล้ว พวกเราได้ออกแบบตัวอย่างชา 5 วัน ซึ่งมีส่วนผสม รสชาติและกลิ่นที่แตกต่างกันในแต่ละวัน
เช่น วันจันทร์จะเริ่มต้นด้วยความหวานของลำไย พุทราจีน และวานิลลา ทำให้สดชื่น-สร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนวันอังคารผสมผสานระหว่างตะวันออกคือเครื่องเทศไทย ชะเอมเทศ ชาเขียว กระวาน และตะวันตกคือเลมอน เบอร์รี ช่วยแก้ไอ แก้ลม คุมน้ำหนัก ลดน้ำตาลในเลือดและเพิ่มอัตราเผาผลาญ ฯลฯ ปัจจุบันรสชาติของชาที่พวกเราออกแบบมีอยู่ในผลิตภัณฑ์ Sence Series อยู่แล้ว