จันทบุรี - หน่วยงานในพื้นที่ จ.จันทบุรี เร่งแก้ปัญหาวิกฤตปูดำพื้นเมืองขาดแคลนจนทำให้ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาไม่เพียงพอต่อการบริโภคและการท่องเที่ยว หลังผู้ประกอบการโฮมสเตย์แห่อัดแคมเปญ “กินปู ดูเหยี่ยว อิ่มไม่อั้น”
จากกรณีที่เกิดปัญหาปูดำในพื้นที่ จ.จันทบุรี ไม่เพียงพอต่อการรองรับนักท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ในเขต อ.ขลุง และ อ.แหลมสิงห์ ได้พากันจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบ “กินปู ดูเหยี่ยว อิ่มไม่อั้น” จนทำให้ทางจังหวัดต้องเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนเพื่อหาแนวทางแก้ไข และผลักดันให้เกิดการขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงปูดำ
รวมทั้งเร่งส่งเสริมให้เกิดการประกอบอาชีพเลี้ยงปูดำในบ่อดิน หรือบ่อกุ้งร้างของเกษตรกรในพื้นที่เพื่อสนองความต้องการบริโภคของทั้งประชาชน และนักท่องเที่ยวนั้น
วันนี้ (7 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายมณี รัตนสร้อย ประธานชมรมผู้ประกอบการโฮมสเตย์แหลมสิงห์ ว่า วิกฤตปูดำขาดแคลนจนไม่เพียงพอต่อการบริโภคและรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ต้องซื้อปูจากต่างถิ่นเข้ามาเสริม อีกทั้งผู้ประกอบการยังได้ร่วมกับส่วนราชการและชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพาะเลี้ยงปูดำ เพื่อส่งเสริมให้ปริมาณปูดำในพื้นที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
“ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วจึงทำให้ปูที่เกิดตามธรรมชาติในแม่น้ำ ลำคลองมีชาวบ้านเข้ามาดักลอบจับปูไปขายได้มากขึ้น ซึ่งในช่วงวันหยุดความต้องการปูดำเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมีประมาณ 8,000-10,000 ตัว ซึ่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาให้ความรู้ทางวิชาการและเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลคุณภาพปูให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการแก่เกษตรกรด้วย”
ทั้งนี้ ปูดำจันทบุรีเป็นที่นิยมบริโภคของนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นปูเนื้อแน่น และมีรสชาติหวาน เมื่อนำมาประกอบอาหารจึงมีรสชาติอร่อย และจะพบมากในพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งหากินทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์
ด้าน นายวิชัช ซ่อนกลิ่น เกษตรกรผู้เลี้ยงปูดำในบ่อดิน อ.แหลมสิงห์ และยังเป็นผู้รับซื้อปูดำจากชาวบ้าน บอกว่าแม้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ปูดำในพื้นที่จะขาดแคลน แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนทำให้ปริมาณปูดำทางธรรมชาติมีมากขึ้น จึงทำให้ในบางวันชาวบ้านซึ่งนำลอบวางปูในลำคลอง สามารถจับปูได้มากกว่า 10 ตัวต่อคน
อีกทั้งขณะนี้เริ่มมีชาวบ้านและเกษตรกรหันมาเพาะเลี้ยงปูดำเพื่อส่งขายมากขึ้น ประกอบกับชาวบ้านในพื้นที่เริ่มมีความรู้และร่วมกันอนุรักษ์ปูดำพื้นเมืองของ จ.จันทบุรี ซึ่งหากมีการจับปูไข่นอกกระดองได้จะนำไปเขี่ยไข่ที่หน่วยงานประมง หรือธนาคารปูในชุมชนเพื่อขยายพันธุ์ปูและเพาะเลี้ยงก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
โดยเชื่อว่าในอนาคตความสมบูรณ์ของปูทะเลจะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้มากขึ้น และยังจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนปูทะเลได้อย่างแน่นอน