ศูนย์ข่าวศรีราชา - เฉลยแล้วเหตุปลาตายเกลื่อนหาดบางแสนช่วง 2 วันก่อน เป็นเพราะอวนปลาเรือประมงขาดทำ "ปลาตะเพียนน้ำเค็ม" เกือบ 10 ตันถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งนอนตายเกลื่อน หลังจากนี้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งประสานเรือประมงหาแนวทางป้องกัน
จากกรณีที่เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองแสนสุข ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า พบปลาตายเกยชายหาดบางแสนเป็นระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร เมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งปลาเกือบทั้งหมดเป็น "ปลาหางโกย" ที่ไม่มีราคา และเทศบาลเมืองแสนสุขได้ส่งพนักงานเข้าเก็บซากปลาตายกว่า 7 ตัน ใส่รถเพื่อนำไปฝังกลบถึง 2 รอบ เพื่อลดผลกระทบด้านกลิ่นที่เหม็นคลุ้งทั่วชายหาดจนทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าลงเล่นน้ำ
ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนเกรงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากฝีมือเรือประมงมักง่าย ที่ออกเรืออวนลากจับปลาซึ่งเมื่อได้ปลาไม่มีราคาก็โยนทิ้งทะเล จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว จนทำให้กลุ่มชาวประมงในพื้นที่ต้องออกคัดค้านขอกล่าวหาดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง และเห็นคุณค่าของทรัพยากรทางทะเลนั้น
วันนี้ (28 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าหลังเกิดเหตุเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี รวมทั้งหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลอ่างศิลา (ชลบุรี) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณชายหาดบางแสน เพื่อหาสาเหตุปลาตายเกลื่อนในทันที
โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า ปลาที่ตายเป็นปลาชนิดเดียวกันคือ ปลาตะเพียนน้ำเค็ม หรือที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Anodontostoma chacunda หรืออีกชื่อคือ ปลาโคก หรือปลามักคา ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกันทั้งหมดคือยาวประมาณ 20 เซนติเมตร
และจากตรวจสอบข้อมูลจากเครือข่ายอนุรักษ์ รวมถึงผู้ประกอบการแพปลา และเรือประมงในพื้นที่ พบว่า เรือประมงอวนล้อมจะพากันออกจับปลาตะเพียนน้ำเค็มที่ชุกชุมมากในระยะนี้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ปลาลอยตายเกลื่อนชายหาด คาดว่าขณะทำการประมงอวนที่จับปลาได้เกิดขาด จึงทำให้ปลาที่จับได้หลุด และถูกคลื่นลมซัดเกยชายหาดบางแสน
อย่างไรก็ตาม ทางเทศบาลเมืองแสนสุข ได้จัดเก็บปลาทั้งหมดที่มีน้ำหนักรวมประมาณ 10,000 กิโลกรัม ออกจากชายหาด พร้อมกับทำความสะอาดชายหาดให้เข้าสู่ภาวะปกติเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันเกิดเหตุ
และหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ประสานไปยังผู้ประกอบการเรือประมง เพื่อให้หาวิธีการที่เหมาะสมป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีกต่อไป