xs
xsm
sm
md
lg

พิสูจน์ 8 ปี DNYC เวทีบ่มเพาะเด็กน่าน ค้นหาตัวตนพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนถิ่นเกิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าน - พิสูจน์พลังเยาวชนน่าน ผ่านเวทีการบ่มเพาะ DNYC ส่งต่อรุ่นต่อรุ่นมาเกือบทศวรรษ การันตีไม่ใช่แค่เด็กลองทำกิจกรรม แต่เป็นการค้นพบศักยภาพตัวเอง หนุนเด็ก ม.ต้น-ม.ปลาย รวมตัวร่วมพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนถิ่นเกิดในฐานะลูกหลานคนรุ่นใหม่


DNYC หรือกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน เริ่มต้นก่อตัวขึ้นในช่วงปี 2558 โดยมีสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.เป็นหน่วยงานพี่เลี้ยงให้การสนับสนุน

เปิดพื้นที่และโอกาสให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพการทำงานร่วมกัน ทำให้เด็กๆ เยาวชนเมืองน่านหลากหลายโรงเรียน หลายชุมชน ช่วงอายุตั้งแต่ระดับมัธยมต้น จนถึงระดับมัธยมปลาย ที่มาร่วมกิจกรรมในฐานะสมาชิกกองทุนฯ ได้ทดลองทำงานที่หลากหลาย จนสามารถค้นพบศักยภาพในตัวเอง และเห็นแนวทางการศึกษาต่อในสาขาวิชาระดับที่สูงขึ้น รวมไปถึงเห็นโอกาสการประกอบอาชีพได้

นายณัฐภัทร บุญทิพย์ หรือน้องพาสเทล อายุ 19 ปี หนึ่งในสมาชิก DNYC ทำกิจกรรมด้านงานถ่ายภาพและผลิตสื่อของสภานักเรียน โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร จ.น่าน ซึ่งในช่วงนั้นกำลังเรียนในระดับ ม.5 ยังมีความสับสนว่าตัวเองอยากเรียนต่อในทางสายรัฐศาสตร์การปกครอง หรือนิเทศศาสตร์กันแน่ แต่ก็อยากทำงานถ่ายภาพผลิตสื่อ อยากได้ลองทำงานด้านนี้มากๆ

กระทั่งเพื่อนแนะนำให้ลองมาร่วมกิจกรรมกับกองทุนฯ DNYC ที่เพื่อนก็เป็นสมาชิกอยู่ และได้สมัครเป็น DNYC รุ่นที่ 6 ประกอบกับช่วงนั้นกองทุนฯ DNYC กับ อพท.6 มีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์และกิจกรรมเวิร์กชอป ทำให้ได้รับโอกาสและถูกมอบหมายงานให้เป็นช่างภาพ-ผลิตสื่อคลิปวิดีโอ เพื่อการประชาสัมพันธ์

“ก็สนุกเพราะเป็นงานถนัด ทำให้ต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะ ผ่านโปรแกรมตัดต่อต่างๆ ทั้ง Adobe Premiere Pro และ Adobe After Effects ได้ไปร่วมไลฟ์สดกับทีมวิทยาลัยเทคนิคน่าน ยิ่งชอบ ยิ่งสนุกและตื่นเต้นกับอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ชัดเจนและแน่ใจมากยิ่งขึ้น ว่าตัวเองมีความสุข สนุกและอยากเรียนด้านนี้จริงๆ”

ซึ่งตอนนี้ตนก็กำลังเดินตามแรงบันดาลใจและความฝัน กำลังศึกษาอยู่ที่คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 2 ถึงแม้ว่าช่วงปีแรกส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทฤษฎี แต่ก็มีคาบเรียนที่ได้เข้าสตูดิโอ ก็ยิ่งทำให้ตื่นเต้น เพราะมีอุปกรณ์การทำงานเยอะแยะมากมาย ได้ทำงานด้าน Video Editor เรียนรู้เรื่องกล้อง เรื่องสวิตเชอร์ ซึ่งถนัดและชอบมาก ใช้เวลาศึกษาและอยู่กับห้องสตูดิโอของคณะมากที่สุด ชอบให้มีโจทย์ยากๆ โจทย์ใหม่ๆ เพื่อใช้ความคิดสร้างสรรค์

ขณะนี้ก็สามารถใช้ทักษะนี้รับจ้างทำงานวิดีทัศน์ให้กับหน่วยงานต่างๆ มีรายได้ระหว่างเรียนด้วย โดยตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบจะกลับมาสร้างงานและทำงานที่น่านบ้านเกิด โดยมีเพื่อนๆ DNYC ที่ชอบและเรียนสาขาด้านนี้เหมือนกัน มีแนวคิดว่าเมื่อเรียนจบก็จะมารวมตัวกันตั้งบริษัทเพื่อทำงานด้านการผลิตสื่อและออแกไนเซอร์ให้กับจังหวัดน่าน

"สิ่งที่ได้จากการเป็น DNYC คือ ได้ค้นพบตัวเอง ทำให้รู้ว่าต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปในทิศทางไหน ถ้ามีศักยภาพอยู่แล้ว ก็ได้พัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เราได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะว่าการได้มาทำกิจกรรมตรงนี้มันสร้างประสบการณ์และเติมเต็มเรา ส่วนคนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ก็สามารถลองทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อค้นหาตัวเอง และพัฒนาศักยภาพนั้นได้”

“กองทุนฯ มีอะไรอีกหลายอย่างที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง และทุกครั้งที่ DNYC มีกิจกรรม ผมก็จะหาโอกาสมาช่วยงานอยู่เสมอ รวมทั้งช่วยสอนน้องๆ รุ่นหลังๆ ที่ชอบและรักงานถ่ายภาพและผลิตสื่อด้วย” พาสเทล-ณัฐภัทร กล่าวเพิ่มเติมเพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่ได้รับจากกองทุนฯ

ทั้งนี้ 8 ปีที่ผ่านมาของกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน DNYC ดำเนินการมาถึงรุ่นที่ 8 แล้ว สมาชิกของกองทุนฯ มีการขยายตัวมากขึ้น ขณะที่สมาชิกรุ่นพี่ก็เรียนจบหรือใกล้จะจบการศึกษา การคิดต่อยอดให้ DNYC มีความยั่งยืนไม่ล้มหายไป คือการทำให้บัณฑิตคืนถิ่นกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง


นางสาวกนกนันท์ คำอุตตา หรือน้องชมพู่ อายุ 19 ปี ประธานกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน DNYC รุ่นที่ 8 ปัจจุบันเรียน ปวส.2 สาขาการบัญชี วิทยาลัยเทคนิคน่าน เล่าว่า ได้เห็นกิจกรรมที่เพื่อนๆ ไปร่วมกับ DNYC ผ่านทางเพจ เกิดความสนใจและอยากมีประสบการณ์บ้าง จึงได้สมัครและได้มีโอกาสทำงานที่หลากหลาย ทำให้ได้พัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการเป็นผู้นำและทักษะการพูด

ซึ่งจากเป็นคนอินโทรเวิร์ต ก็กล้าที่จะพูดต่อหน้าสาธารณะมากขึ้น เพราะมีบทบาทหน้าที่ในฐานะประธานรุ่น การได้เข้ามาเป็นสมาชิกของ DNYC ทำให้ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างมาก และยังได้ใช้ทักษะการวาดรูป ช่วยวาดสติกเกอร์โปรโมตและประชาสัมพันธ์ให้ชุมชน "หัวเวียงใต้ ย่านสร้างสรรค์" เป็นการทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งก็ทำให้เราได้พัฒนาความคิดและการทำงานร่วมกัน

น้องชมพู่ยังบอกเล่าเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งหนึ่งที่เยาวชนคนรุ่นใหม่มักถูกตั้งคำถามหลังเรียนจบว่ากลับน่านแล้วจะมาทำอะไร ทำให้ DNYC มีแนวคิดจากกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของเยาวชนและชุมชนที่มีนำมาต่อยอดออกแบบเป็นกิจกรรมการเรียนรู้และการฝึกการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น พร้อมวางแผนในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาที่ตรงศักยภาพ เพื่อนำเอาความรู้มาต่อยอดอาชีพกลับมามีงานทำที่น่าน


“นี่เป็นจุดเริ่มต้นจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ลองน่าน (LONG NAN) หมายถึง อยู่น่านนานๆ เพื่อรองรับการกลับมาทำงานในท้องถิ่นของคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับมามีอาชีพดูแลครอบครัว และกลับมาพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนให้เกิดความยั่งยืนด้วยคนที่เกิดและโตในเมืองน่าน ซึ่งขณะนี้ได้นำทักษะต่างๆ มาร่วมกัน ช่วยกันสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายได้แล้ว"

การก้าวเดินและเติบโตของเยาวชน กองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน DNYC ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง 8 ปี จากเยาวชนที่ชวนกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ หาเงินออกค่ายอาสาพาทำดี ช่วยเหลือน้องๆโรงเรียนขนาดเล็ก จนมีพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการ ผ่านกิจกรรมกาดหมั้วคัวละอ่อน ที่รับออกบูทงานแสดงต่างๆ การจัดการแสดง เวทีประกวดของเยาวชน ล้วนเสริมเขี้ยวเล็บความเก่งเป็นทักษะชีวิตติดตัวให้กับน้องๆ เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับคนทุกช่วงวัย

และแนวความคิดต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนด้วยกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เป็นพื้นที่สร้างโอกาสทางอาชีพสำหรับบัณฑิตกลับถิ่น ถือเป็นกลุ่มเยาวชนลูกหลานเมืองน่านที่มีศักยภาพในการพัฒนาและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเมืองน่านในอนาคต






กำลังโหลดความคิดเห็น