xs
xsm
sm
md
lg

หวังรัฐบาลชุดใหม่ช่วยเด็กในศูนย์การเรียนวิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ มีงบค่าอาหารกลางเพียงวันละ 8 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ศูนย์การเรียนวิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ – ชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง วิถีกะเหรี่ยงกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีงบค่าอาหารวันละ 200 บาท ตกหัวละ 8 บาทต่อคน หวังรัฐบาลชุดใหม่ ช่วยเหลือ

ศูนย์การเรียนวิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ – ศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร) เป็นสถานศึกษา ตั้งอยู่ที่บ้านสะเนพ่อง หมู่ที่ 1 ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีองค์กรชุมชนบ้านสะเนพ่อง เป็นผู้จัดการศึกษา เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา (ชั้นปีที่ 1-6) มาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 (สพม.8) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ

แม้จะได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณและให้สิทธิประโยชน์ด้านการศึกษาใดๆ แก่นักเรียนในศูนย์การเรียน ตามสิทธิที่เด็กไทยควรได้รับ ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาศูนย์การเรียน ประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการศึกษามาโดยตลอด โดยปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนชั้น ม.1-6 รวม 21 คน ครู 4 คน

นายชาญชัย สังขธิติ ครูศูนย์การเรียนศรีสุวรรณสะเนพ่อง เปิดเผยว่า ศูนย์การเรียนแห่งนี้ เกิดจากความต้องการของชุมชน ที่ต้องการลุกขึ้นมาจัดการเรียนการสอนให้กับลูกหลาน ที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่สามารถส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อในในตัวเมืองได้ นอกจากนั้นเด็กบางคนไม่อยากออกจากชุมชนไปอาศัยอยู่ข้างนอกระหว่างเรียน จึงได้ช่วยกันจัดตั้งศูนย์การเรียนแห่งนี้ขึ้นมา โดยได้รับความช่วยเหลือจากหลายๆฝ่าย

ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ทางศูนย์หารสยได้ด้วยการใช้วิธีการทอดผ้าป่าการศึกษา รวมกับเงินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้ เพื่อใช้เป็นงบประมาณในการจัดการเรียนการสอน โดยแบ่งเป็นค่าตอบแทน ครู ค่าครุภัณฑ์ทางการศึกษา ค่าอาหารและกิจกรรมต่างๆ โดยไม่มีเงินอุดหนุนจากภาครัฐแต่อย่างใด

จึงอยากเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือ เงินค่ารายหัวนักเรียนในศูนย์ เหมือนที่มอบเงินอุดหนุนรายหัวให้กับสถานศึกษาทั่วไป ซึ่งศูนย์การเรียนที่มีการจัดการโดยองค์กรชุมชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ต่างเฝ้ารอการช่วยเหลือจากรัฐบาลใหม่

ในปีการศึกษา 2566 นี้ ศูนย์การเรียนศรีสุวรรณสะเนพ่อง มีนักเรียนทั้งหมด 21 คน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กในชุมชน ที่ด้อยโอกาสครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่สามารถส่งบุตรหลานไปเรียนต่อในเมือง นอกจากนั้นยังมีเด็กด้อยโอกาสที่มาจากหมู่บ้านใกล้เคียง เช่นบ้านแม่ติ้ว บ้านโจ่คีพื่อ ไกลสุดเป็นเด็กจากบ้านจะแกที่อยู่ห่างไกลออกไปกว่า 80 กิโลเมตร ติดอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งต้องมาพักอาศัยและกิน นอน อยู่กับครูที่ศูนย์การเรียน ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะเรื่องอาหารกลางวันและอาหารสำหรับเด็กบ้านไกล

ที่ผ่านมาโรงเรียนและชุมชนได้ร่วมกันปลูกข้าวเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำข้าวมาบริโภค เพื่อลดค่าใช้จ่ายของศูนย์การเรียนฯ รวมทั้งช่วยกันปลูกผักสวนครัวและออกหาเก็บผักสดในชุมชนและในป่ารอบๆ ชุมชน เพื่อช่วยเหลือตัวเอง เช่นเลี้ยงปลา ไก่ไข่ ไว้เป็นอาหารกลางวัน แต่ก็ไม่เพียงพอ และยังต้องการในเรื่องเครื่องปรุงต่างๆ จึงแก้ไขปัญหาด้วยการขอรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง เช่น มาม่า ปลากระป๋อง วุ้นเส้น เส้นหมี่ กุนเชียง ผักกาดดอง เครื่องครัวและอื่นๆ ตามสมควร เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน

รวมทั้งสื่อและอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์สำนักงานในการทำงานของครู แม็ก แล็ตซีน กาวลาเท็กซ์ กระดาษ A4 A3 ธรรมดา และกระดาษ A4 แบบสี (หลายๆ สี) กระดาษร้อยปอนด์ คลิปหนีบกระดาษ เมล็ดพันธุ์ผัก อุปกรณ์การเกษตร แม่พันธุ์ปลา ไก่หรือเป็ดไข่ เป็นต้น

ด้าน น.ส.สุวันดี พุ่มไพรวัลย์ หรือครูเบียร์ กล่าวว่า สำหรับโครงการอาหารกลางวัน ครูและเด็กจะช่วยกันทำและคิดเมนู ภายใต้งบประมาณที่มีให้ใช้วันละ 200 บาท สำหรับเด็กนักเรียน 21 คนและครู 4 คน คิดเฉลี่ยตกคนละ 8 บาท ต่อมื้อ ครูจึงต้องใช้ผักที่ปลูกในสวนผักหรือไปซื้อผักที่ชาวบ้านปลูก เนื่องจากมีราคาที่ถูก ส่วนเนื้อซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญต่อการพัฒนาด้านร่างกายและสมองของเด็กก็จะวนเวียนอยู่ในกลุ่มของโครงไก่ กระดูกหมู ไข่ ปลากระป๋อง เพื่อให้เพียงพอในงบประมาณที่มีอยู่จำนวน 200 บาท

ขณะที่ ด.ชนิติพล และ ด.ช.นิตินัย (ไม่มีนามสกุล) เปิดเผยว่า ตนทั้งสองคนย้ายตามครอบครัวมาจากบ้านจะแก เนื่องจากพ่อและแม่ย้ายมาอยู่ที่บ้านสะเนพ่อง เพื่อมาทำงาน ที่ตัดสินใจมาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1)ที่นี่ เนื่องจากพ่อแม่ไม่สามารถส่งให้เรียนต่อในตัวอำเภอสังขละบุรีได้ เนื่องจากไม่มีเงิน ที่นี่เรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ต้องมีชุดนักเรียน มีอาหารกลางวันให้ทาน มีอุปกรณ์การเรียนให้

ที่สำคัญที่นี่สอนภาษากะเหรี่ยงให้สามารถอ่านและเขียนได้ ไม่เหมือนโรงเรียนอื่น มีหลายเรื่องที่ตนเองอยากเรียนรู้ทั้งเรื่องการทอผ้า การจักสาน การทำไร่หมุนเวียน วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และหลายเรื่องที่นักเรียนอยากเรียนรู้ ที่สำคัญการได้มาเรียนที่นี่รู้สึกสนุกและมีความสุขทุกวันอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ของศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร) เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องอัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยง และสภาพท้องถิ่นของตนเอง เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยง ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ชุมชน และเป็นการให้ชาวสะเนพ่องได้ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ส่งผ่านการสืบทอด ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ความเชื่อ และเอกลักษณ์ของชุมชนให้กับลูกหลาน

อีกทั้งลูกหลานยังสามารถเรียนรู้หลักสูตรขั้นพื้นฐานควบคู่ร่วมไปกับการเรียนรู้หลักสูตรของชุมชน เป็นการสอนให้ลูกหลานรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนของตนเอง ฝึกทักษะพื้นฐานการใช้ชีวิตควบคู่กับการเรียนรู้เท่าทันสังคมนอกชุมชน และได้มีการดำเนินการเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของผู้เรียน เพื่อสามารถอาศัยอยู่ในชุมชนและสังคมได้อย่างมีความสุข ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ มองเป็นองค์รวมจนเกิดความเข้าใจในการใช้ชีวิตเป็นไปตามความมุ่งหวังของชุมชน

เกิดการร่วมมือร่วมใจในการจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร) มีการวางแผน ออกแบบกิจกรรมและดำเนินงานตามแผนจากการมีส่วนร่วมจาก ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน การพัฒนาตรวจสอบผลการดำเนินงาน และการปรับปรุง แก้ไขงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งครูจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ออกแบบและจัดการเรียนรู้ที่เป็นไปตามความต้องการของหลักสูตร และบริบทสถานศึกษา พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ ใช้สื่อการเรียนรู้ติดตาม และช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อพัฒนา และแก้ปัญหา ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีความ มั่นใจต่อการจัดกระบวนการศึกษา และการจัดการของศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร)

ศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร)สามารถจัดการศึกษาได้ด้วยชุมชน อันจะทำให้ชุมชนสามารถสืบสานการเรียนรู้เกี่ยวกับ วิถีวัฒนธรรมชุมชน ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ พร้อมไปกับการเรียนรู้ฝึกทักษะพื้นฐานการใช้ชีวิตในครอบครัว ควบคู่ไปกับการเรียนรู้หลักวิชาพื้นฐานที่เสริมการเรียนรู้และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอกชุมชน โดยเน้นผู้เรียนเป็นหลัก

การสอนที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนให้ผู้เรียนรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสามารถและความต้องการของตนเอง พัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ได้ใช้ความคิดตนเอง ปฏิบัติเอง และมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลหรือแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย สามารถสร้างความรู้ที่เกิดขึ้นด้วยตนเองและนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้ โดยมีครูเป็นผู้วางแผนร่วมกับผู้เรียน และยังตระหนักได้ถึงคุณค่าของชุมชนท้องถิ่น และสังคมซึ่งเน้นหลักวิชาการควบคู่กับหลักการดำรงชีวิต










กำลังโหลดความคิดเห็น