พระนครศรีอยุธยา - ถนนลาดยางในพื้นที่ อ.บางปะอิน ทรุดตัวกว่า 100 เมตร หลายภาคส่วนร่วมกันเร่งนำเครื่องจักรลงซ่อมแซมบรรเทาความเดือนร้อนประชาชน เผยเดิมถนนสายนี้สร้างเพื่อเป็นคันกั้นน้ำท่วม หลังภัยแล้งจึงปรับมาเป็นถนน
จากสภาวะน้ำในคลองแห้ง ส่งผลกระทบทำให้ถนนลาดยางแบบ 2 ช่องจราจร บริเวณถนนทางหลวง อย.3020 หลักกิโลเมตรที่ 6 พื้นที่หมู่ 1 ต.บ้านแป้ง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เกิดแยกตัวเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร และจุดที่พังมากที่สุดเกือบ 2 เมตร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องนำป้ายสัญญาณเตือนหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางมาติดตั้ง พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวก ประชาสัมพันธ์เพื่อให้หลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางดังกล่าวเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
ล่าสุด วันนี้ (30 พ.ค.) นายสุรินทร์ ขักขะโร ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทพระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ว่าที่ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เขต 4 พร้อมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากชลประทานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่โดยมีนำรถแบ็กโฮมาทำการรื้อพื้นผิวถนนที่ชำรุดเสียหาย พร้อมกับนำรถบดมาบดพื้นที่ถนน เพื่อเป็นการปรับพื้นผิวถนนที่เกิดการทรุดตัวระยะทางประมาณ 100 เมตร เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้สัญจรไปมาได้ชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
นายสุรินทร์ กล่าวว่า พื้นที่ตรงนี้เดิมเป็นคันกั้นน้ำเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำเข้าทุ่ง เพราะฉะนั้น คันที่สร้างจะสร้างจากดินเหนียวเพื่อกั้นน้ำเป็นหลัก พอสถานณ์เปลี่ยนแปลงมีการใช้เป็นถนนสัญจรไปมา กรมชลประทานได้ทำ MOU กับกรมทางหลวงชนบท เพื่อขอผิวถนนเพื่อให้ประชาชนสัญจร แต่ในส่วนข้างล่างต้องขออนุญาตทางชลประทาน ซึ่งเราพยายามหาวิธีการทำให้แข็งแรงเพื่อรับน้ำหนักได้ แต่เราทำไม่ได้ทั้งหมดเพราะหน้าที่หลักคือคันกันน้ำ
ซึ่งสาเหตุการทรุดตัวในครั้งนี้เกิดจากน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งน้ำจะพยุงอยู่ แต่เมื่อน้ำลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการสไลด์ของดินลงไป โดยลักษณะแบบนี้พื้นที่อยุธยามีหลายเส้น ซึ่งมีการแก้ไขมาโดยตลอด เพราะ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ถนนจะอยู่แนวคันคลอง ซึ่งจะมีรถบรรทุกเป็นตัวเร่งปัญหาให้ชำรุดเร็วขึ้น ตอนนี้เราต้องมาควบคุมกฎหมายไม่ให้รถน้ำหนักเกินวิ่ง สำหรับการซ่อมแซมถนนที่ทรุดตัววันนี้กลับมาใช้งานได้ แต่เราจะต้องมีการจัดระบบจราจร
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ว่าที่ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เขต 4 เปิดเผยว่า ตรงนี้เป็นถนนทางหลวง อย.3020 มีหน่วยงานรับผิดชอบ 2 หน่วยงาน ซึ่งพื้นถนนคันกั้นน้ำเป็นของกรมชลประทาน แต่ผิวถนนเป็นความรับผิดชอบของแขวงทางหลวงชนบท ตรงจุดเกิดเหตุเป็นช่วงคอสะพาน ระยะทาง 100 กว่าเมตร ที่เกิดการทรุดตัวมาจากระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีรถบรรทุกวิ่งจำนวนมากจนทำให้เกิดการทรุดตัว
การแก้ปัญหาตอนนี้ทางกรมชลประทานได้นำเครื่องจักรมาซ่อมทางชั่วคราวเพื่อให้พี่น้องสัญจรไปมาได้ก่อน ในส่วนตรงจุดคอสะพาน ซึ่งติดอยู่ในส่วนสัญญาค้ำประกันผู้รับจ้างกับทางกรมชลประทานมาแล้วประมาณ 2 ปี และจะหมดสัญญาในวันที่ 17 กันยายน 2566 ทำให้จุดนี้กรมทางหลวงชนบทต้องเว้นไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางกรมชลประทานได้มีการประสานเรียกคู่สัญญามาพูดคุยเพื่อทำการซ่อมแซมต่อไป