xs
xsm
sm
md
lg

งานเข้า! นักกฎหมายชี้รัฐบาลออก พ.ร.ก.เลื่อนใช้ กม.อุ้มหาย ขัดรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - นักกฎหมายชี้รัฐบาลออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ขัดรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลผู้กระทำผิดกฎหมาย แม้ไม่มีบทลงโทษไว้โดยตรง แต่ต้องมีความรับผิดชอบในการกระทำ

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เปิดเผยว่า จากกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 99 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่าพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แก้ไขเป็นให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงส่งความเห็นดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคหนึ่ง

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสี่ วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566 กรณีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566 ไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น (วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสามนั้น

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดที่รัฐบาลออกเพื่อขยายการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลผู้กระทำผิดกฎหมาย แม้ไม่มีบทลงโทษไว้โดยตรง แต่ต้องมีความรับผิดชอบในการกระทำ

รัฐบาล หน่วยงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งออกมาแสดงความรับผิดชอบ และขอโทษต่อประชาชนในการออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวผิดพลาด อีกทั้งต้องเยียวยาประชาชนที่เสียประโยชน์และไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการดำเนินการใน 4 มาตรา ซึ่งต้องดำเนินการมาตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับคือ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แม้ไม่มีบทลงโทษความผิดพลาดเรื่องนี้ไว้โดยตรง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบในการกระทำ

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบันทึกภาพและเสียงจะช่วยทำให้การทำงานของตำรวจเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ออกคำสั่งที่ 178/2564 ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 เรื่องการบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้น จับกุม และสอบสวนคดีอาญา แสดงถึงการเตรียมการของตำรวจมีมานานแล้ว จึงอยากให้ทางตำรวจรีบดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที

พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหายถูกผลักดันจากกระทรวงยุติธรรม เครือข่ายญาติผู้เสียหาย องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน และตัวแทนภาคประชาชน ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภา และมีมติเห็นชอบเมื่อเดือนกันยายน 2565 ออกมาเป็น พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แต่รัฐบาลออกพระราชกำหนดขยายการบังคับใช้ 4 มาตราออกไปถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย

4 มาตราที่ขยายไปโดยขัดรัฐธรรมนูญ ได้แก่ มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว และมาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน
กำลังโหลดความคิดเห็น