xs
xsm
sm
md
lg

นอภ.สหัสขันธ์ส่ง จนท.ตรวจสอบปัญหาชาวบ้านร้องฟาร์มหมูส่งกลิ่นเหม็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - ชาวบ้าน 2 ตำบลใน อ.สหัสขันธ์จี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตรวจสอบการให้ใบอนุญาตเอกชนตั้งฟาร์มหมู
16 ฟาร์ม หลังมูลส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ด้านนายอำเภอแจงส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว
และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเชิงลึก หากพบการกระทำผิดมีอำนาจสั่งยุบฟาร์ม


จากกรณีชาวบ้านใน ต.สหัสขันธ์ และ ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของมูลหมู ที่โชยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน 16 ฟาร์ม ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย ปวดศีรษะและเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบแก้ไข พร้อมกับล่ารายชื่อเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเอกชนและผู้เลี้ยงหมู ให้ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุดวันนี้ (21 พ.ค.) นายสุทัศน์ พันธ์ศรี รองปลัด อบต.สหัสขันธ์ กล่าวว่า หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน กรณีได้รับผลกระทบจากฟาร์มหมูเอกชนดังกล่าว จึงได้ประสานตัวแทนบริษัทเอกชนให้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทางบริษัทรับปากว่าจะเร่งแก้ไขปัญหาจากกลิ่นให้กับฟาร์มเกษตรกรภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ได้รับมอบหมายจากนายก อบต.สหัสขันธ์ ร่วมกับกำนัน ต.สหัสขันธ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบภายนอกของฟาร์มหมู ทราบว่าบางฟาร์มมีการจัดระบบบริหารจัดการในฟาร์ม 100% ปลอดกลิ่นเหม็น ขณะที่ยังมีบางฟาร์มที่การติดตั้งระบบป้องกันและบริหารจัดการในฟาร์มไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงยังมีกลิ่นเหม็น ทราบว่าจะได้ดำเนินการติดตั้งม่านน้ำเพื่อดูดซับกลิ่นตามกระบวนการของฟาร์ม


ทางด้านนางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวถึงประเด็นปัญหาเดียวกันนี้ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบทางกลิ่นจากฟาร์มหมู เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา เบื้องต้นได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอและส่วนที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงและจะมีการดำเนินการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ในส่วนปัญหากลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของ ต.สหัสขันธ์ ก็จะได้ประสานทั้ง อบต.สหัสขันธ์เจ้าของพื้นที่ รวมทั้งฝ่ายอุตสาหกรรม ฝ่ายปศุสัตว์ และ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นฝ่ายอนุมัติเงินกู้ลงทุนเลี้ยงหมู

ขณะเดียวกัน ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวตรวจสอบในส่วนที่รับผิดชอบ เช่น การอนุญาตสร้างอาคาร การจัดตั้งฟาร์ม การบริหารจัดการในฟาร์ม จุดประสงค์การกู้เงิน ว่าถูกต้องหรือไม่ หากพบไม่เป็นไปตามระเบียบ และหลักการก็ให้มีการปรับปรุงแก้ไขภายในกรอบเวลากำหนดตามกฎหมาย หากไม่ดำเนินการแก้ไขหรือดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลากำหนด ทางอำเภอก็มีอำนาจสั่งยุบกิจการ


อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดตั้งฟาร์มเลี้ยงหมู โดยมีบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านดังกล่าว มีรายงานว่า มีการประชุมกลุ่มย่อยในช่วงโควิด-19 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่นำที่ดินจำนองกับ ธ.ก.ส.โครงการละ 6 ล้านบาทเศษ 1 รายจัดทำ 2 ฟาร์ม จำนวนหมู 1,500 ตัว โดยเอกชนดำเนินการให้ในส่วนของโครงสร้างต่างๆ เช่น วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างฟาร์มหมู ลูกหมู อาหาร เลี้ยงอายุ 140 วันสามารถจับจำหน่ายให้บริษัทได้


ทั้งนี้ เกษตรกรที่ร่วมโครงการทำสัญญากับบริษัทเอกชน ในฐานะ “ผู้รับจ้างเลี้ยง” โดยมีสัญญา 3 ปี สำหรับการเลี้ยงหมูบางรายเป็นการเลี้ยงรุ่นที่ 1 ขณะที่บางรายเลี้ยงในรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นการเลี้ยงในขณะที่ระบบการบริหารจัดการในฟาร์มยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และเกิดกลิ่นเหม็นกระทบชาวบ้าน กระทั่งเกิดการร้องเรียนและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบในครั้งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น