ตาก - เกษตรกรชาวไร่พบพระ ชายแดนตาก ยิ้มรับทรัพย์กันเป็นแถว..ผักลุ้ย ราคาพุ่งช่วงรอยต่อหน้าแล้งย่างเข้าฤดูฝน พ่อค้านำรถคอกรับซื้อถึงแปลงปลูกกิโลฯ ละ 7 บาท ทำเงินต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นอัป จากปีกลายขายได้แค่กิโลฯ ละ 2-3 บาท
ช่วงรอยต่อฤดูแล้งย่างเข้าหน้าฝนปีนี้ เกษตรกรชาวไร่ชาวสวนพบพระ จ.ตาก โดยเฉพาะคนที่ปลูกผักลุ้ย หรือผักกาดขาว ต่างยิ้มหน้าบาน นำแรงงานเมียนมาที่ข้ามแดนมารับจ้างเลี้ยงชีพลุยเก็บขายพ่อค้าที่นำรถคอกมาซื้อถึงกลางไร่กลางสวนในราคาที่สูงกว่าทุกปีที่ผ่านมาเป็นเท่าตัว
น้องยี่-นางสาวกัญญา แช่ว่าง อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 4/121 บ้านเจริญมิตร (บ้าน 4) หมู่ 8 ต.รวมไทยพัฒนา อ.พบพระ จ.ตาก บอกว่าลงมือลงแรงปลูกลุ้ยในเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติรดด้วยหัวสปริงเกอร์อย่างสม่ำเสมอทุกวัน ใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง รองพื้น 1 ครั้ง และบนดิน 2 ครั้ง
“ใช้เวลาปลูกผักลุ้ยจนถึงตัดขายราว 40 กว่าวัน เห็นราคาตอนนี้แล้วหายเหนื่อย เพราะพ่อค้ามาราคาดีถึงกิโลกรัมละ 6-7 บาท จากที่ผ่านมาที่เคยปลูกและตัดขาย ได้ราคาแค่กิโลกรัมละ 2-3 บาทเอง จึงเร่งมือตัดขายเลย”
น้องยี่-กัญญาเล่าต่อว่า ที่จริงอยากปลูกมากกว่านี้ แต่แหล่งน้ำไม่เพียงพอ น้ำมันก็แพง อย่างแปลงผักลุ้ยที่ปลูกทั้งหมด 5 ไร่ 2 งานนี้ ค่าน้ำมันใส่เครื่องสูบน้ำรดก็ตกวันละ 10 ลิตรเข้าไปแล้ว ไหนจะค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ที่แพงมาก จึงมีทุนและกำลังทำได้เพียงแค่นี้
อย่างไรก็ตาม อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยหาทางทำให้ปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง ราคาลดลงมากกว่านี้ ถ้าปุ๋ย-ยาราคาแพง แล้วผลผลิตทางการเกษตรของพี่น้องชาวไร่ชาวสวนราคาตก ชาวบ้านก็ขาดทุนเป็นหนี้เป็นสินซ้ำซาก อีกเรื่องหนึ่งคือ หาแหล่งน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ
เฮียมิตร พ่อค้าพืชไร่พืชสวน กม.44 ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก ที่เข้าไปรับซื้อผักลุ้ยกลางสวน กล่าวว่า มารับซื้อลุ้ยนำไปส่งขายต่อพ่อค้าต่างจังหวัด ทั้งกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล พิษณุโลก และภาคอีสาน โดยช่วงนี้ราคารับซื้ออยู่ที่กิโลฯ ละ 6-7 บาท ขึ้นอยู่กับบางวันและสภาพลุ้ย
อย่างผักลุ้ยแปลงน้องยี่-กัญญา สภาพสวยไม่มีหนอน หัวใหญ่ น้ำหนักตกหัวละประมาณ 1 กิโลฯ เจ้าของดูแลดี คาดว่า 1 ไร่ได้น้ำหนักลุ้ยประมาณ 7,000-8,000 กิโลกรัม หรือไร่ละ 7-8 ตัน น่าจะทำเงินได้ไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นบาทต่อไร่ขึ้นไป
เฮียมิตรบอกว่า ตนเป็นพ่อค้าเล็กๆ เพิ่งเริ่มต้นรับซื้อลุ้ยและส่งต่อให้พ่อค้าต่างจังหวัด วันหนึ่งต้องมีผักส่งให้พ่อค้าปลายทาง ประมาณกว่า 1,000 กิโลกรัม หรือกว่า 1 ตันตามที่พ่อค้า ตามที่มีออเดอร์รับซื้อ นอกจากซื้อผักลุ้ยแล้วยังซื้อกะหล่ำปลี ตลอดจนพืชผักอย่างอื่นตามฤดูกาลด้วย
ด้านการขนส่ง ต้องควบคุมในการตัด-ลำเลียงผัก ถ้าตัดและลำเลียงขึ้นรถไม่ดี ผักจะเสียหายก็จะถูกตัดราคาจากพ่อค้าปลายทาง รวมทั้งต้องรีบส่งตามเวลาพ่อค้ากำหนด ต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอนเหมือนกัน บางครั้งซื้อไปก็ขาดทุนบางครั้งก็กำไรอยู่ที่ตลาดปลายทางแต่ละวัน
“เอาของไม่ดีส่งไปให้พ่อค้าปลายทางเขาก็ตัดราคา ถ้าเราได้ผักที่ตัดมีคุณภาพดี ก็จะมีราคา เราจึงซื้อราคาแต่ละวันไม่เหมือนกัน ขึ้นลงตามราคาปลายทาง ถ้าราคาพอไปได้เราก็ซื้อได้ ชาวไร่อยู่ได้เราก็อยู่ได้ เพราะผมเป็นชาวไร่มาก่อนรู้ดีว่าชีวิตชาวไร่เป็นอย่างไร”