xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเชียงคานสืบประเพณี “ผีขนน้ำ”บูชาบุญคุณวัวควายที่ล้มหายตายจาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลย-ตำบลนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย จัดงานประเพณี “ผีขนน้ำ”ท่ามกลางอากาศร้อนจัด 41.5 องศาฯ เผยจัดขึ้นทุกปีเพื่อเป็นการขอขมาและรำลึกบุญคุณของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะวัว-ควายที่ล้มหายตายจากที่มีบุญคุณช่วยไถ่นาและเป็นอาหาร


วันนี้( 6 พ.ค.) ที่ตำบลนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย ได้มีการจัดงานประเพณี “ผีขนน้ำ” เชียงคาน โดยมี นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์. รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานการเปิดงาน นายอวิรุจน์ ศรีพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาซ่าว พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชองค์การปกครองปกครองส่วนท้องถิ่น ต.นายซ่าว และชาวบ้าน 15 หมู่บ้าน ร่วมขบวนแห่ บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางอากาศร้อน อุณหภูมิ 41.5 องศา

นายอภินันต์ สุวรรณโค นายอำเภอเชียงคาน กล่าวว่า ประเพณีผีขนน้ำหรือบุญเดือนหก ของชาวบ้านนาซ่าว ปกติจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นการละเล่นตามความเชื่อคนโบราณ เชื่อกันว่าเมื่อมีการละเล่นผีขนน้ำแล้ว จะทำให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล เชื่อว่าเป็นการละเล่น เพื่อเซ่นไหว้สัตว์เลี้ยงที่มีคุณประโยชน์ เช่น วัว ควาย ที่ล้มหายตายจากไป

โดยมีการจัดขบวนแห่ฟ้อนรำอันสวยงาม การละเล่นผีขนน้ำของตำบลนาซ่าวแสดงออกถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ที่ถือเอาวันแรม 13 ค่ำ เดือนหก เป็นวันกำหนดการจัดงาน




การละเล่นแห่ขบวนผีขนน้ำ จะเดินตามเป็นขบวนภายในหมู่บ้าน เป็นการถวายผีเจ้านาย ผีขนน้ำจะแต่งกายจากวัสดุที่ทำจากกิ่งไม้ไผ่ นำมาดัดให้โค้ง แล้วติดด้วยกระดาษสีต่างๆ เพื่อความสวยงาม หลังจากนั้นจึงนำมาเย็บติดกับผ้า เพิ่มความสวยงามชุดไว้สวมใส่ก่อนที่จะสวมหน้ากาก แขวนขอลอ เวลาเดินหรือเต้น จะส่งเสียงให้ได้ยินแต่ไกล โดยชาวบ้านที่ร่วมขบวนส่วนใหญ่จะเป็นชายฉกรรจ์กับเด็ก ๆ ที่ชอบความสนุกสนาน ทุกคนจะพร้อมใจกันสวมหน้ากาก ตกแต่งเป็นรูปหน้าโค กระบือ วาดลวดลายสีสันฉูดฉาด เพื่อบูชาคุณสัตว์ทั้งสองชนิดที่ช่วยงานเกษตร

นอกจากนี้ยังนำเอาผ้าจากที่นอนเก่า ๆ มาห่มร่าง เพื่อให้นุ่นที่ติดอยู่ฟุ้งกระจาย ซึ่งแต่ก่อนเรียกประเพณีนี้ว่า "ผีขน"




การแห่ผีขนน้ำ หรือ แมงหน้างาม ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของ งานบุญเดือนหก เป็นการละเล่นที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวนาซ่าว ที่จากเดิมคือ ชนกลุ่มน้อยเผ่าไทยพวน ที่อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง ได้มาตั้งหลักแหล่งกันที่บ้านนาซำหว้า และในสมัยนั้นชาวบ้านยังไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงนับถือผีบรรพบุรุษและผีปู่ย่า และเชื่อกันว่าการเล่นผีขนน้ำ คือพิธีกรรมไหว้ผีบรรพบุรุษที่ชาวบ้านรวมตัวกันจัดขึ้น หรือเรียกว่า เลี้ยงบ้าน เพื่อแสดงความเคารพและตอบแทนบุญคุณ ผีเจ้าปู่ ที่ให้ความคุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล และมีพืชผลอุดมสมบูรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น