คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น เตือนปีนี้ประเทศไทยแล้งจัด เนื่องจากซีกโลกแถบประเทศไทย เข้าสู่ภูมิอากาศแบบเอลนีโญ(El Nino) ที่มีความรุนแรงกว่าในอดีต ทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งขยายเป็นบริเวณกว้าง เพราะอุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกจะอุ่นขึ้น นำพาอากาศร้อนและแห้งไปยังแถบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 63- มี.ค. 66 โลกได้เผชิญกับลานีญา (La Nina) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกับเอลนีโญ คือ ที่ทำให้ฝนตกหนัก และอากาศหนาวเย็นในแถบแปซิฟิก ทำให้ผู้คนได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยเอลนีโญและลานีญาเป็นปรากฏการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นเป็นเวลา 12-18 เดือน แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานับว่ายาวนานผิดปกติ
สำหรับประเทศไทยหลังจากที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาทั้งภาคเหนือและภาคอีสานได้รับผลกระทบจากไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 และคาดว่าในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. สถานการณ์ภัยแล้งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ชาวบ้านและเกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทางคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น จึงผนึกกำลังสิงห์อาสาต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน ให้มีน้ำไว้ใช้ทั้งในช่วงหน้าแล้งและภาวะปกติ
การทำงานในปีนี้ สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด บริษัทในเครือฯ พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ให้ความสำคัญของการสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชนเป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์ภูมิอากาศของโลกในปีนี้ ก้าวเข้าสู่ภูมิอากาศแบบเอลนีโญ่ ซึ่งจะเป็นสภาพภูมิอากาศที่แล้งรุนแรง ฝนทิ้งช่วง ต่างจาก 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแบบลานีญา หรือสภาวะฝนมากกว่าปกติ ซึ่งในปีนี้จะทำงานร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการ “สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน” ด้วยการขุดบ่อเพื่อเป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ตลอดฤดูแล้งและภาวะปกติ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวบ้าน ควบคู่กับการนำรถน้ำออกให้บริการในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน ณ ชุมชนบ้านหนองแวงไร่ ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา ศรีสุธรรม อาจารย์สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “จากการคาดการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะพุ่งขึ้นทุบสถิติในปีนี้และปีหน้า ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิก โดยปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 12-18 เดือน ส่งผลทำอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อประเทศที่ประสบปัญหาจากสภาพอากาศแต่เดิมอยู่แล้ว เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่า ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า คลื่นความร้อนมาเร็วกว่าปกติ ส่งผลไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะภาคอีสานที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง
ดังนั้น การสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนจึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้ โดยพื้นที่ที่เราเลือกในครั้งนี้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งและฤดูกาลเพาะปลูกที่ฝนทิ้งช่วง กระบวนการเติมน้ำใต้ดินจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้ง สามารถกักเก็บน้ำได้ ซึ่งแบ่งออกเป็นรูปแบบบ่อเปิดและบ่อปิด ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยบ่อปิดจะใช้วิธีขุดให้ลึกถึงชั้นบาดาลแล้วฝังท่อลงไป เพื่อช่วยเติมความชุ่มชื้นให้แก่ดินโดยรอบ และบ่อเปิดจะเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ทุกคนสามารถผันน้ำไปใช้ได้ตลอดทั้งปี ทำให้แหล่งน้ำดังกล่าวมีปริมาณน้ำที่เพียงพอให้กับคนในชุมชน”
นายรวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า “การสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านตลอดหลายปีที่ผ่านมา ช่วยให้ชาวขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียงมีแหล่งน้ำชุมชนไว้ใช้ทั้งในยามแล้งและปกติ เมื่อมีน้ำพอกินพอใช้จึงทำให้สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ประกอบอาชีพได้ ซึ่งหากนับตั้งแต่ปี 2564 สิงห์อาสาได้สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านมาแล้วในพื้นที่ภาคอีสานหลายแห่ง และจะขยายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยก่อนนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี ที่สิงห์อาสาพร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การแจกจ่ายน้ำสะอาดให้กับชาวบ้าน ติดตั้งธนาคารน้ำสิงห์ ซึ่งเป็นแท้งค์น้ำให้ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ ทำท่อประปาเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำจากภูเขาเข้าสู่หมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล และสร้างแหล่งน้ำชุมชน นำองค์ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินมาสร้างแหล่งน้ำชุมชนและถ่ายทอดให้ชาวบ้าน เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องภาคอีสานได้เป็นอย่างดี”
ทั้งนี้ สิงห์อาสา และ คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น พร้อมด้วยเครือข่ายสถาบันการศึกษา 16 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ,มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น และวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม จะสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชนพร้อมช่วยสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องให้กับชุมชน เพื่อขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ทุกคนมีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น