xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านลิ้นจี่อัมพวาเศร้า อากาศร้อนจัดทำให้ลิ้นจี่ยืนต้นตายเกือบครึ่งสวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - ชาวบ้านลิ้นจี่อัมพวาเศร้า หลังอากาศร้อนจัด และร้อนนานทำให้ลิ้นจี้แก่เร็ว ออกลูกแล้วแต่ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ส่งผลทำให้ต้นลิ้นจี่โทรม และยืนต้นตาย เกษตรจังหวัดเร่งให้ความรู้ในการดูแล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อากาศที่ร้อนจัดและร้อนนานปีนี้ทำให้ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ให้ผลผลิตออกมากว่า 5,000 ตัน แทนที่จะทำให้ชาวสวนทุกรายยิ้มแย้มแจ่มใสกับผลผลิตที่ขายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่มีชาวสวนบางราย เช่น นายบุญช่วย สุขวิจิตร์ อายุ 80 ปี เจ้าของสวนลิ้นจี่บนเนื้อที่ 5 ไร่ จำนวน 35 ต้น ในพื้นที่หมู่ 1 ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งอยู่ริมถนนผลไม้ทางเข้าวัดอินทาราม บอกว่าปีนี้ตนเหมือนทุกขลาภ ลิ้นจี่ให้ผลผลิตเกือบทุกต้นคาดว่าประมาณ 3 ตัน หรือ 3,000 กิโลกรัม เห็นเงิน 3- 4 แสนบาทอยู่ข้างหน้า แต่กลับมีต้นลิ้นจี่อายุประมาณ 30 ปี จำนวน 11 ต้น ซึ่งกำลังจะเก็บผลผลิตได้ ใบกลับแห้งเป็นสีน้ำตาลลักษณะยืนต้นตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนลูกลิ้นจี่ก็แห้งร่วงหล่นเกลื่อนโคนต้นเสียหายไปครึ่งสวน

นายบุญช่วย กล่าวว่า ตั้งแต่ตนเกิดมาทำสวนลิ้นจี่จนอายุ 80 ปีแล้วยังไม่เคยเจอต้นลิ้นจี่ยืนต้นตายแบบนี้ ตอนแรกคิดว่ามีคนแกล้งโรยยา แต่พอมาคิดดูสวนคนอื่นยืนต้นตายเหมือนกันแต่ไม่มากเท่ากับสวนของตน จึงคิดว่าปีนี้ลิ้นจี่ให้ผลผลิตมากเมื่อมาเจออากาศที่ร้อนจัดนานเป็นเดือน อาจทำให้ลิ้นจี่ที่มีลูกดกต้องหาอาหารมาเลี้ยงลูกจำนวนมากอาจทนไม่ไหวกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด ช่วงแรกใบเริ่มเหี่ยวเฉาก่อน จะเก็บผลผลิตช่วงนั้นลิ้นจี่ยังไม่แก่สมบูรณ์ จึงต้องปล่อยจนผลลิ้นจี่แห้งคาต้น ส่วนต้นลิ้นจี่เริ่มยืนต้นตาย เนื่องจากใบร่วงจนเหลือแต่กิ่งก้าน ซึ่งจะลองตัดกิ่งก้านที่แห้งออกให้หมดแล้วให้น้ำจำนวนมากทุกวันยังหวังว่าต้นลิ้นจี่เหล่านี้อาจจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง แต่หากไม่ได้ผลคงต้องตัดต้นทิ้ง

นายบรรจงศิลป์ วุฒิอุทัย เกษตร จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ปีนี้สภาพอากาศค่อนข้างร้อนจัดทำให้ผลลิ้นจี่แก่เร็วขึ้น และมีลิ้นจี่บางสวนบางต้นออกลูกแล้วไม่สามารถเก็บผลผลิตได้เนื่องจากผลผลิตไม่มีคุณภาพ เพราะผลลิ้นจี่แก่เร็วจากอากาศร้อน ส่งผลทำให้ต้นลิ้นจี่โทรม แสดงลักษณะกำลังจะยืนต้นตาย จากการสันนิฐานเบื้องต้นคาดว่าต้นลิ้นจี่ดังกล่าวไม่สมบูรณ์และมีใบเพียง 1 ชุด ซึ่งปกติต้องมีไม่น้อยกว่า 2 ชุด เนื่องจากระบบรากไม่ดี จึงแนะนำชาวสวนให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ผสมเชื้อราไตรโครเดอร์มา หรือขึ้นเลนบางๆ รอบทรงพุ่ม และรดนำสม่ำเสมอ และให้ตัดแต่งกิ่งลิ้นจี่ให้สูงจากพื้นดินไม่ควรเกิน 2 เมตร และให้เหลือกิ่งข้างที่มีใบติดอยู่พอประมาณเพื่อให้มีใบไว้สังเคราะห์แสงและให้รดนำอย่างสม่ำเสมอต้นลิ้นจี่จะแตกยอดขึ้นมาใหม่หลังดำเนินการแล้วประมาณ 1-2 เดือน

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเกษตร จ.สมุทรสงคราม ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ทั้งระดับจังหวัดและอำเภอลงพื้นที่ตรวจสอบต้นลิ้นจี่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวแล้ว คาดว่าวันจันทร์ ที่ 8 พ.ค.นี้จะส่งนักวิชาการที่มีความรู้เรื่องนี้ลงไปให้ความรู้ ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรชาวสวนเพื่อให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการฟื้นฟูต้นลิ้นจี่ดังกล่าวให้แตกยอดขึ้นมาใหม่โดยเร็วต่อไป









กำลังโหลดความคิดเห็น