อุบลราชธานี - “บักแงว” หรือมะแงว เป็นไม้ผลในตระกูลเดียวกับลิ้นจี่ ลำไย และเงาะ ทำให้คุณตาเจ้าของสวนลิ้นจี่ใน จ.อุบลราชธานี เอาลิ้นจี่พันธุ์ค่อม จากจังหวัดราชบุรีมาปลูกลงในแผ่นดินอีสาน เพราะเชื่อว่าเมื่อบักแงว ไม้ผลท้องถิ่นที่มีรูปลักษณ์คล้ายกับลิ้นจี่ยังขึ้นได้ ลิ้นจี่เมืองราชบุรีก็น่าจะเติบโตได้ดีเช่นเดียวกัน
สวนลิ้นจี่กว่า 500 ต้น บนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ ใน ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ อันเป็นมรดกที่คุณตา หรือคุณวิจิตรา สุวรรณกูฏ ได้รับสืบทอดมาดูแล ปัจจุบันสวนลิ้นจี่แห่งนี้ให้ดอกออกผลให้ลูกหลานได้เก็บกินและเก็บขายได้เป็นกอบเป็นกำ ปีละกว่า 20 ตัน คิดมูลค่าก็เป็นเงินหลักแสนถึงสองแสนบาทขึ้นไป
คุณวิจิตรา หรืออ้อ ยังเล่าด้วยว่า ปัจจุบันนอกจากเก็บผลลิ้นจี่ออกขายสู่ตลาด กระแสความนิยมของคนที่รักสุขภาพ และชอบหากินผลไม้ที่สุกตามต้น ไม่รอซื้อหาจากตลาดขายผลไม้ จึงได้เปิดสวนให้เข้าเที่ยวเชิงนิเวศ คือ ให้มาลองชิมรสชาติก่อนตัดสินใจซื้อ ไม่ดีจริงก็ไม่ต้องซื้อ มาเดินเที่ยวชมความงดงามของสวนลิ้นจี่ให้สบายตาสบายใจอย่างเดียวก็ได้
แต่แทบทุกรายที่มาลิ้มชิมรสชาติของลิ้นจี่สดๆ จากสวน ก็อดใจไม่ได้ที่จะต้องซื้อหอบหิ้วกลับไปฝากญาติพี่น้อง ฝากเพื่อนฝูงคนละไม่น้อยกว่า 5-10 กิโลกรัม เพราะลิ้นจี่ของที่นี่ไม่มีน้ำฉ่ำ แต่มีความหวานอมเปรี้ยวหอมอร่อย จนอดใจซื้อกลับไปฝากคนรู้จักไม่ได้ เพราะราคาก็แสนถูกเพียงกิโลกรัมละ 60 บาท แต่ถ้าอยากได้กิ่งพันธุ์ไปปลูกเอง ก็มีขายราคาต้นละ 250 บาท
เหมือนกับครอบครัวนี้ ซึ่งรู้ข่าวทางสวนเปิดให้เข้ามาชิมลิ้นจี่ ก็พาลูกตัวเล็กมาเดินชิมเด็ดกินแบบคาต้น เป็นอย่างนี้ใครบ้าง จะไม่ซื้อกลับไปด้วย เพราะทั้งสด ทั้งอร่อย แต่เทศกาลที่สวนเปิดให้ชิมนี้จะอยู่ไปได้ถึงแค่ราวกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ลิ้นจี่ก็คงสุกหมดสวนแล้ว
แต่ไม่ต้องกังวล แม้ลิ้นจี่ส่วนใหญ่จะสุกหมด ก็ยังมีลิ้นจี่ที่สวนเก็บไว้ทำน้ำลิ้นจี่ให้นักท่องเที่ยวได้ดื่มในคาเฟ่ของสวนลิ้นจี่แห่งนี้ด้วย แต่ก็อยากให้รีบมากันช่วงนี้ จะได้กินลิ้นจี่กันสดๆ แบบสุกคาต้น
สำหรับเส้นทางมาสวนก็มาตามถนนวารินชำราบ-เดชอุดม เมื่อมาถึง กม.8 ก่อนถึงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จะมีป้ายบอกทางเข้าสวนขับต่อไปประมาณ 1 กิโลเมตรก็ถึงแล้ว หาไม่ยาก แต่ถ้าไปไม่ถูกจริงๆ ก็โทรศัพท์สอบถามที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-5104-9193