ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ได้ฤกษ์มหามงคล! กำหนดจัดพิธีพุทธาภิเษกและสมโภช “พระพุทธทศพลญาณ” พระพุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 30 เม.ย.นี้ ณ ลานธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ หม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคล เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธี หลังใช้เวลาจัดสร้าง 4 ปี ด้วยเงินทุน 10 ล้าน
วันนี้ ( 22 เม.ย.) ศ.ดร.สามารถ จับโจร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านปะติมากรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยว่า หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้กำหนดดำเนินการจัดพิธีพุทธาภิเษกและสมโภช “พระพุทธทศพลญาณ” พระพุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2566 เวลา 15.00 น. ณ ลานธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ หน้าสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมี หม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคล ทรงเป็นประธานฝ่ายฆราวาส
ทั้งนี้เพื่อให้คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมถึง พุทธศาสนิกชน และประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในพิธีอันเป็นมงคลในโอกาสครบรอบ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาและเพื่อเป็นการทำนุบำรุงและสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป
ศ.ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า “พระพุทธทศพลญาณ” พระพุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นั้น ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มีมติให้จัดสร้างขึ้น ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ เพื่อตั้งประดิษฐาน ณ ลานธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ หน้าสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา แทนองค์เดิมที่มีขนาดเล็กและจัดสร้างมานานแล้ว
อีกทั้งลานธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ดังกล่าว ยังเป็นสถานที่ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยเสด็จพระราชดำเนิน ณ ลานธรรมแห่งนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2507 จึงถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง
ทั้งนี้องค์พระพุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ขนาดใหญ่ ความสูงขององค์พระรวมฐาน 10 เมตร หล่อด้วยวัสดุโลหะเกรดพิเศษตกแต่งด้วยสีเคมีพาติน่าเป็นสีทองเหลืองสุกอร่ามเปล่งประกายทั้งองค์ โดยตนเป็นประติมากรผู้ออกแบบและดำเนินการจัดสร้าง ใช้เงินทุนจัดสร้างทั้งหมดประมาณ 10 ล้านบาท ด้วยการดำเนินการจัดหาเองจากการจัดประมูลผลงานศิลปะ จากศิลปินแห่งชาติ ศิลปินระดับชาติ นานาชาติ คณาจารย์ด้านศิลปะและผู้มีจิตสาธารณะมอบให้ โดยมิได้ใช้งบประมาณของทางราชการหรือมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ใช้ระยะเวลาดำเนินการจัดสร้างระหว่างปี 2561- 2565 รวมระยะเวลา 4 ปี จึงแล้วเสร็จ
โดยการดำเนินการจัดสร้าง นั้น เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2561 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้นำคณะผู้บริหาร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี น้อมเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปปางลีลาหล่อด้วยวัสดุทองเหลืองปิดทองคำเปลวทั้งองค์ (พระพุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ต้นแบบ) ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร
จากนั้นคณะกรรมการดำเนินการในการจัดหารายได้และดำเนินการสร้างพระพุทธรูป พุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นำโดยตนในฐานะประธานกรรมการฯ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ประทานนามองค์พระพุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ว่า “พระพุทธทศพลญาณ” อ่านว่า “พระ-พุด-ทะ-ทด-สะ-พน-ละ-ยาน” แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีพระญาณเป็นกำลัง 10 ประการ ตามหนังสือ ที่ สสร. 652/2562 วันที่ 3 พ.ย. 2562
ต่อมาวันที่ 23 ก.ค. 2563 หม่อมเจ้าทิมัมพร ยุคล เสด็จพระดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเททองหล่อ "พระพุทธทศพลญาณ" พระพุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ณ บริเวณลานเอนกประสงค์ อาคาร 26 หน้าองค์พระพิฆเนศ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลปั คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมี พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ ท่ามกลางคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัย หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ และประชาชนเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก
วันที่ 30 เม.ย. 2565 ได้อัญเชิญองค์พระพุทธทศพลญาณ พระพุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่จัดสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ จากโรงหล่อ มาติดตั้งประดิษฐาน ณ ลานธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ หน้าสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อรอประกอบพิธีพุทธาภิเษกและสมโภช
“ กระทั่งล่าสุดได้กำหนดประกอบพิธีพุทธาภิเษกและสมโภช พระพุทธทศพลญาณ พระพุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในวันที่ 30 เมษายน 2566 นี้ ณ ลานธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัย ราชภัฏนครราชสีมา จึงขอเชิญชวน คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พุทธศาสนิกชน และประชาชนเข้าร่วมพิธีอันเป็นมงคลครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง ” ศ.ดร.สามารถ กล่าวในที่สุด