xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแล้วงานประเพณีแห่พญายม (สงกรานต์บางพระ) ประเพณีหนึ่งเดียวในโลกที่ จ.ชลบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - เปิดแล้วงานประเพณีแห่พญายม (สงกรานต์บางพระ) ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก มรดกทางวัฒนธรรม ประจำปี 2566 ณ ตลาดน้ำห้วยสุครีพ จ.ชลบุรี ไฮไลต์พิธีบวงสรวงองค์พญายม และร่วมส่งองค์พญายมลงสู่ทะเลในวันพรุ่งนี้

เมื่อเวลา 20.00 น.วันนี้ (17 เม.ย.) นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดงานประเพณีแห่พญายม (สงกรานต์บางพระ) ประจำปี 2566 ซึ่งเทศบาลตำบลบางพระ และชาวบางพระได้ร่วมกันจัดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 126 ณ ตลาดน้ำห้วยสุครีพ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 17-18 เม.ย.นี้

โดยมี นายธราธิป เกียรติวุฒิไกร ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีตำบลบางพระ นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการเครือแปซิฟิก นายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายเอกสิทธิ์ อ่ำฉะอ้อน สมาชิกสภาจังหวัดชลบุรี และหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วม


ทั้งนี้ งานประเพณีแห่พญายม (สงกรานต์บางพระ) ถือเป็นประเพณีแห่งความเชื่อและความศรัทธาที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งในวันที่ 18 เม.ย.นี้จะมีพิธีบวงสรวงองค์พญายม และร่วมส่งองค์พญายมลงสู่ทะเล เพื่อเป็นการปล่อยทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ ไปกับองค์พญายม ซึ่งชาวบางพระเชื่อว่าเป็นการปล่อยเคราะห์ทั้งหลายให้ออกไปจากชีวิต และต้อนรับความโชคดีที่จะมีตามมา

ภายในงานมีทั้งมหกรรมการแสดงคอนเสิร์ต แสง สีเสียง เต็มรูปแบบจากศิลปินชื่อดัง เช่น แจ๊ส สปุ๊กนิก ปาปิยองกุ๊กกุ๊ก ไรอัน ไมค์หมดหนี้ รถแห่วาเลนไทน์ ไฮไลต์ละครเวที "ตำนานแห่พญายม เดอะ มิวสิคคัล" จัดเต็มเวทีมวยไทยสุดมันส์ แข่งขันหมากกระดาน และงานมหกรรมร้านค้า ของดี ของเด็ด บางพระ ให้เพลิดเพลินตลอดทั้งงาน


อนึ่ง เมื่อย้อนอดีตไปก่อน พ.ศ.2446 บางพระ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรี มีชื่อว่าอำเภอบางพระ จนกระทั่ง พ.ศ.2460 ได้เปลี่ยนเป็นตำบลบางพระ เป็นตำบลหนึ่งที่อยู่ในอำเภอศรีราชา ตามระบบการแบ่งเขตการปกครองที่เปลี่ยนไป

เดิมชาวบ้านบางพระมีอาชีพทำการประมงเนื่องจากภูมิประเทศอยู่เลียบชายฝั่ง เป็นการทำประมงโดยเรือแจวขนาดเล็ก ยามคลื่นลมแรงจะเกิดอุบัติเหตุสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินกันบ่อยครั้ง ประกอบกับวันหนึ่งบางพระได้เกิดโรคมาลาเรีย และไข้เลือดออกระบาด ชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงได้เจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมากไม่มีหนทางใดที่จะรักษาได้

จนกระทั่งมีชาวบ้านคนหนึ่งได้ฝันว่าการที่จะนำพาให้ทุกคนรอดปลอดภัยได้ต้องสร้างหุ่นแทนองค์พยายมขึ้นมา นำเครื่องคาวหวานมาเซ่นไหว้บวงสรวง และนำท่านแห่รอบหมู่บ้านเป็นการสะเดาะเคราะห์ โดยให้ชาวบ้านทุกคนมารวมตัวกันกลางลานหมู่บ้านเพื่อทำพิธีขอขมาลาโทษ แล้วนำหุ่นแทนองค์พญายมไปลอยลงสู่ทะเลให้ไกลที่สุด


และก็เป็นจริงดังว่า เพราะเมื่อทุกคนทำตามแล้ว โรคภัยไข้เจ็บคลี่คลายหายไปจากหมู่บ้านบางพระ และทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุขตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จึงก่อเกิดความศรัทธาเลื่อมใสต่อองค์พญายม เกิดเป็นประเพณีแห่พญายมซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในไทย หนึ่งเดียวในโลก เพราะหากปีใดที่ไม่ได้มีการบวงสรวงแห่พญายมแล้วในปีนั้นจะเกิดอุบัติการณ์ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบัน ประเพณีแห่พญายมยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาด้วยความสามัคคี ด้วยแรงศรัทธาของทุกคนในตำบลบางพระ เทศบาลตำบลบางพระ ร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลบางพระ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีและจังหวัดชลบุรี ได้ร่วมบูรณาการสืบสานตำนานประเพณีแห่พญายม

โดยกำหนดให้วันที่ 17-18 เมษายนของทุกปีเป็นวันสำคัญในการประกอบพิธีแห่พญายมให้องค์พญายมปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป และอัญเชิญหุ่นองค์พญายมลอยลงสู่ทะเล ซึ่งสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงจะมลายหายไปในทะเลด้วยเช่นกัน










กำลังโหลดความคิดเห็น