xs
xsm
sm
md
lg

ชี้คนต้นคิดไม่รอบคอบ! ละเลงงบโควิดกว่า 10 ล้าน ทำโครงการส่งน้ำลำปางเสร็จเป็นปีใช้งานไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลำปาง - ป.ป.ช.ตามส่องโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำฯ ลำปาง หลังเพจดังโพสต์แฉใช้งบโควิดกว่า 10 ล้าน สร้างเสร็จเป็นปีแต่ใช้งานไม่ได้ เบื้องต้นไม่พบการทุจริต แต่คนต้นคิดมองตื้น ทำโดนน้ำท่วมจนระบบเสียหายใช้การไม่ได้


หลังจากมีการโพสต์ข้อมูล..โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองหลงน้ำลัด พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ณ บ้านน้ำลัด หมู่ที่ 2 ต.พระบาทวังตวง อ.แม่พริก จ.ลำปาง วงเงินกว่า 10 ล้านบาท สร้างเสร็จตั้งแต่ 18 พ.ค. 2565 ไม่สามารถใช้งานได้ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชอบมาพากลกันไปทั่ว

ล่าสุดนายสถิตย์ นิตย์สมบูรณ์ ประธานชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต จ.ลำปาง อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงาน จ.ลำปาง พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ลำปาง โดยมีเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำที่ 1 และนายกเทศมนตรีตำบลพระบาทวังตวง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 และสมาชิกชมรม STRONG เข้าร่วมให้ข้อมูล

เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 ระบุว่า โครงการดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญาเปลี่ยนแปลงราคาก่อสร้างจากเดิม 10,443,500 บาท เหลือ 8,413,665 บาท สร้างเสร็จ 27 ส.ค. 2565 แต่หลังจากนั้น อ.แม่พริกประสบอุทกภัย ทำให้ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จมน้ำนานนับเดือน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบสูบน้ำ

ต่อมาได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ว่าเปิดระบบสูบน้ำแต่ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 จึงแจ้งไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัด แก้วแปงการโยธา ผู้รับจ้าง ซึ่งชนะการประมูลก่อสร้างโครงการนี้ให้เข้ามาซ่อมแซม โดยมีหนังสือตอบกลับมาว่าจะเข้ามาซ่อมแซมภายในวันที่ 16 เม.ย.-5 พ.ค. 2566

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.เบื้องต้นทราบว่าตั้งแต่ประสบอุทกภัย 27 ส.ค. 2565 ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ได้เข้ามาปิดระบบไฟไว้ เพราะก่อนหน้านั้นเคยเปิดระบบตรวจสอบการใช้งานแล้วในถังยังมีน้ำอยู่ ภายหลังจากน้ำลด จนถึงได้รับแจ้งว่าระบบสูบน้ำใช้งานไม่ได้ เป็นระยะเวลากว่า 7 เดือน โดยไม่มีใครเข้าไปเปิดระบบไฟเนื่องจากไม่มีกุญแจ

เบื้องต้น ป.ป.ช.สรุปปัญหาเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองหลงน้ำลัด คือ

1. อุทกภัยช่วงเดือน ส.ค. 2565 ทำให้น้ำท่วมระบบสูบน้ำ 2. ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ยอมรับว่าไม่มีกุญแจเปิดกล่องระบบสูบน้ำ โดยกุญแจสำรองอยู่ที่ผู้รับจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด แก้วแปงการโยธา 3. เทศบาล ต.พระบาทวังตวง กังวลว่าทางผู้รับจ้างจะไม่ซ่อมให้ แม้จะยังอยู่ในระยะค้ำประกัน 2 ปี เนื่องจากอุปกรณ์เสียหายจากอุทกภัยไม่อยู่ในสัญญาการจ้างงาน

4. หากผู้รับจ้างปฏิเสธเข้าซ่อมแซม ทางเทศบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณจ้างผู้รับเหมาซ่อมระบบหรือแก้ไขปัญหาได้ 5. สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 ยอมรับว่าการทำเรื่องของบประมาณมาซ่อมแซมต้องผ่านกระบวนการคัดกรองมากมายและใช้เวลานาน ไม่แน่ว่าจะทันปีงบประมาณปี 2567 หรือไม่

6. แม้จะมีการซ่อมแซมระบบสูบน้ำแล้ว แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าในปีต่อๆ ไปจะไม่เกิดอุทกภัยร้ายแรงอย่างปีที่ผ่านมาอีก ดังนั้นซ่อมแล้วก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมระบบสูบน้ำเรื่อยๆ 7. เทศบาลตำบลพระบาทวังตวงและชุมชนบ้านน้ำลัดเห็นตรงกันว่าควรมีการปรับปรุงประตูระบายน้ำให้กลับมาเปิดปิดได้ เพื่อควบคุมระดับน้ำในคลองไม่ให้ท่วมพื้นที่ซ้ำซาก แต่ปัญหาคือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่มีงบประมาณ


นายสถิตย์ ประธานชมรม STRONG และกรรมการ ป.ป.ช.สำนักงาน จ.ลำปาง กล่าวว่า การที่ระบบสูบน้ำไม่สามารถใช้งานได้ทำให้ประชาชนในพื้นที่ประมาณ 40 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การจะทำโครงการเพื่อของบประมาณบางครั้งทำเรื่องปี 2560 ได้รับการอนุมัติเงินปี 2565 ก็เคยมี แต่งบเลือกตั้งกลับได้เร็ว ต้องไปดูว่าปีนี้มีงบกลางช่วยภัยแล้งหรือไม่ และบางทีเทศบาลอาจต้องทำเรื่องขอความช่วยเหลือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง

อย่างไรก็ตาม ได้แนะนำทางเทศบาลและผู้ใหญ่บ้านให้เร่งลงเสาเข็มสร้างฐานรากระบบสูบน้ำให้มั่นคงไม่ทรุดตามดินหลังน้ำลด ส่วนประตูระบายน้ำที่ชุมชนเสนอมานั้นอยู่นอกเหนือโครงการที่ของบประมาณก่อสร้างไป ดังนั้นการของบประมาณโครงการใดๆ ต่อไปขอให้ชุมชนและเทศบาลมองสภาพปัญหาให้กว้างๆ ครอบคลุมพื้นที่ เพราะประชาชนคือผู้เดือดร้อน

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่บ้านน้ำลัด หมู่ที่ 6 รับฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ป.ป.ช.สำนักงาน จ.ลำปาง ยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มาจากการทุจริต อย่างที่เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน นำข้อมูลเพียงบางส่วนมาแชร์ในโซเชียล จากนี้จึงขอให้ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 และเทศบาล ต.พระบาทวังตวง ร่วมมือกันเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนนี้โดยเร็วก่อนฤดูฝนที่จะถึงนี้อาจทำให้เกิดอุทกภัยซ้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น