ศูนย์ข่าวขอนแก่น - 13-16 เม.ย. เทศกาลวันสงกรานต์ ณ วัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น อัญเชิญ พระพุทธรูปภายในสิมลงมาเพื่อสรงน้ำอบน้ำหอมบริเวณหน้าสิม และจัดทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไป รับแต่สิ่งดีๆ ในวันมหาสงกรานต์นี้ ถือว่าเป็นกิจกรรมประเพณีอันงดงามที่สืบทอดกันมาของชาวอีสาน
13 เม.ย. 66 ณ วัดไชยศรี บ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายพันธ์เทพเสาโกศล รอง ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานฆราวาสทำพิธีเปิดงาน Water Festival 2023 เทศกาลวิถีน้ำ วิถีไทยประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิมวัดไชยศรี ปี 2566 โดยมี พ่อครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี เจ้าคณะตำบลสาวะถี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายฤทธิรงค์ ศิริภูมิ นายกเทศมนตรีตำบลสาวะถี, นายเสกสรร ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น, ดร.สุรสิทธิ์ สิงห์หลง ดร.สมยงค์ แก้วสุพรรณ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น, นายธนัฐภูมินตร์ รัตนนวราฐธิบดี นายกสมาคมชาวเหนือจังหวัดขอนแก่น
พร้อมด้วยคณะกรรมการและที่ปรึกษา ร่วมงานสืบสานวันสงกรานต์อนุรักษ์ประเพณีไทย พร้อมหน่วยงานของภาครัฐและองค์กรเอกชนให้เกียรติในพิธีเปิดงาน "Water Festival 2023" เทศกาลวิถีน้ำ วิถีไทย ประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิม วัดไชยศรี ปี 2566
นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงกิจกรรมวันสงกรานต์ ที่วัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีตั้งแต่วันที่ 13-16 เม.ย. 66 จึงขอเรียนเชิญท่านที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมพิธีสะเดาะเคราะห์ ประเพณีอันดีงามของชาวอีสาน ซึ่งจัดรอต้อนรับทุกท่าน เชิญแวะกราบนมัสการพระพุทธรูปที่อยู่ในสิม เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดขอนแก่นมาอย่างช้านาน ทั้งนี้ได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปภายในสิมลงมาเพื่อสรงน้ำอบน้ำหอมบริเวณหน้าสิม และพิธีสะเดาะเคราะห์ ไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไป รับแต่สิ่งดีๆ ในวันมหาสงกรานต์นี้ ถือว่าเป็นกิจกรรมประเพณีอันงดงามที่สืบทอดกันมาของชาวอีสาน
สำหรับพิธีเสียเคราะห์นั้น พ่อครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี เจ้าคณะตำบลสาวะถี กล่าวว่า ทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ที่ถือเป็นวันเริ่มต้นประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านได้เกิดพิธีกรรมที่สืบทอดกันมานับร้อยปีคือพิธีเสียเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ตามแบบโบราณอีสาน โดยชุมชนและวัดได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ มีความเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่จะช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีเพิ่มความเป็นสิริมงคลเสริมดวงชะตาให้เข้าสู่ปีใหม่อย่างสดใสและไม่มีอุปสรรค
โดยผู้ที่ได้ร่วมในพิธีสะเดาะเคราะห์หรือทางอีสานเรียกว่าเสียเคราะห์จะประสบแต่สิ่งที่ดีในชีวิต ส่วนความหมายในพิธีกรรมของชุมชนสาวะถีคำว่าเสียเคราะห์หมายถึงการทำให้เคราะห์ที่ไม่ดีหรือสิ่งที่ไม่เป็นมงคลในชีวิตหมดสิ้นไป เครื่องสังเวยหรือเครื่องเสียเคราะห์ ได้มีการจัดเครื่องสักการะเพื่อบูชาพระเคราะห์ให้หายเคราะห์ สิ่งแรกที่ขาดไม่ได้คือเทียนตามแบบโบราณกำหนดและสิ่งของอื่นๆ
เช่น ข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวเหลือง ข้าวตอกดอกไม้ น้ำส้มป่อย ทุงช่อธงชัย ป้ายแดง ป้ายดำ ป้ายขาว ป้ายเหลือง ด้ายสายสิญจน์รอบโถง เป็นต้น โดยสิ่งของทั้งหมดนี้จะนำใส่ลงในธง 4 แจ ขนาดกว้างยาวประมาณ 1 ศอก ทำจากกาบกล้วย แล้วกั้นออกเป็น 9 ห้องด้วยกาบกล้วยเช่นกัน