เพชรบุรี - สิ้นแล้วศิลปินแห่งชาติ งานปูนปั้นเมืองเพชร “ทองร่วง เอมโอษฐ” รวมอายุ 80 ปี หลังเข้าพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพชรรัตน์ และร้องขอให้ภรรยาพากลับบ้านก่อนจะเสียชีวิตอย่างสงบในบ้านพัก นับเป็นความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ในวงการงานปูนปั้น
เมื่อเวลา 00.15 น.วันนี้ (12 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ ได้เสียชีวิตลงที่บ้านพักในตำบลช่องสะแก อำเภอเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้ศิลปะปูนปั้นเมืองเพชร บ้านศิลปินแห่งชาติ หลังเข้าพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพชรรัตน์ และร้องขอให้ภรรยาพากลับบ้านก่อนจะเสียชีวิตอย่างสงบในบ้านพัก นับเป็นความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ ที่ศิลปินแห่งชาติอย่างอาจารย์ทองร่วงได้เสียชีวิตลง
นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) เป็นศิลปินปูนปั้นและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะปูนปั้น มีฝีมือยอดเยี่ยมและจินตนาการอันบรรเจิดที่มีรูปแบบในการปั้นและสูตรเฉพาะตัวในการตำปูน ที่สืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะปูนปั้นดั้งเดิมของช่างเมืองเพชร มีผลงานปูนปั้นที่ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถตามวัดในจังหวัดเพชรบุรี และต่างจังหวัดมากมาย เช่น วัดมหาธาตุวรวิหาร วัดพลับพลาชัย วัดโคก และวัดเขาบันไดอิฐ ทั้งนี้ได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลงานมีทั้งประเภทความงามด้านประเพณีช่างโบราณ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง หน้าบัน คันทวย และประเภทแนวสร้างสรรค์สังคมโดยการปั้นรูปล้อเลียนบุคคลทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย
นอกจากนี้ ผลงานปั้นยังสอดแทรกคติธรรม ข้อคิดต่างๆ เป็นการผ่อนคลายความเครียดและสะท้อนภาพสังคมในยุคนั้นๆ และยังก่อให้เกิดอรรถรสในการชมงานศิลปะปูนปั้น ทําให้ดูมีชีวิตชีวา ให้ความรู้สึกถึงความจริงแห่งวิถีในสังคมไทย ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าเพื่อให้ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรมไทย
นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการตัดสินการประกวดศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย และเป็นวิทยากรพิเศษสอนศิลปะปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชรให้สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ นับว่าเป็นอาจารย์สอนศิลปะปูนปั้นต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้สนใจวิชาศิลปะปูนปั้นได้อย่างดียิ่ง และอุทิศตนให้สังคม ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมและอนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทยต่อไป
นายทองร่วง เอมโอษฐ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) พุทธศักราช ๒๕๕๔
ประวัติชีวิต
นายทองร่วง เอมโอษฐ เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๖ ที่ตําบลบางกระบือ อําเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรคนที่ 2ในจํานวนพี่น้อง 4 คน ของนายยศ เอมโอษฐ และนางสำลี เอมโอษฐ สมรสกับนางบุญเรือน เอมโอษฐ มีบุตร 2 คน ชาย 1คน หญิง 1 คน
ประวัติการศึกษา
จบนักธรรมชั้นเอก จากวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม ปริญญากิตติมศักดิ์ จากสถาบันราชภัฏเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
ประวัติการทํางาน
เริ่มทํางานปูนปั้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบัน โดยปั้นงานให้วังและวัดต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรีและในต่างจังหวัด
พ.ศ.2522 ได้รับเชิญจากกรมศิลปากรในฐานะผู้เชี่ยวชาญพุทธศิลป์สถาปัตยกรรมและประติมากรรมไทย ในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ในช่วงเตรียมการฉลอง ๒๐๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์
ประวัติการสร้างสรรค์ผลงาน
ครูทองร่วง เมื่อวัยเด็กหลังจากจบการศึกษาชั้นประถมศึกาปีที่ ๔ บิดามารดาให้บวชเป็นสามเณรทอยู่ที่วัดบางใหญ่ ในอําเภอบางคนทีทจังหวัดสมุทรสงคราม ระหว่างนั้นได้รับความเมตตาจากพระมหาเสวกจันทร์แดง สอนการคัดลายมือการเขียนลายไทยทและการเขียนสีน้ำมัน เพื่อการเขียนป้ายต่างๆ ในวัดสามเณรน้อยตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จนสามารถสอบนักธรรมตรีได้แล้วจึงย้ายไปวัดอัมพวันเพื่อศึกษาระดับนักธรรมโท และนักธรรมเอกต่อไป
ต่อมา สามเณรทองร่วง ได้พบกับครูพิณ อินฟ้าแสง ช่างปั้นชั้นครูผู้ซึ่งกลายมาเป็นครูคนแรกที่สอนงานและถ่ายทอดแนวคิดต่างๆ ในงานศิลปะปูนปั้นให้ จึงเกิดความประทับใจจนกลายเป็นความศรัทธา หลังลาสิกขาขณะอายุได้ 18 ปี หนุ่มน้อยทองร่วงจึงได้ใช้การเรียนรู้แบบครูพักลักจำจากการเฝ้าสังเกตดูครูพิณ ทำงานและทดลองปั้น พร้อมทั้งได้รับเอาวิธีการ เช่น ตำปูน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความมานะพยายามอย่างมากเพราะกว่าจะได้ปูนื1 กระป๋องต้องใช้เวลาตําถึงภวัน รูปแบบ การแก้ปัญหา และแนวความคิดในการสร้างสรรค์งานแบบอย่างครูพิณไว้ได้อย่างครบถ้วน จนสามารถก้าวขึ้นเป็นศิลปินปูนปั้นแถวหน้าของจังหวัดเพชรบุรี และได้รับการยอมรับนับถือจากช่างปูนปั้นทั้งเก่าและใหม่ในที่สุด
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ครูทองร่วงได้ทำงานออกแบบพระพุทธรูป โบสถ์และงานปูนปั้นสำคัญๆ มากมาย รวมทั้งออกแบบฐานพระประธานพระพุทธชินราช และโบสถ์หลังใหญ่ วัดโตนดหลวง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ลวดลายของโบสถ์และเจดีย์วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ทำให้ชื่อเสียงของครูทองร่วง เป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนทั่วไปทั้งในจังหวัดเพชรบุรีทและต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น งานหัตถกรรมปูนปั้นของครูทองร่วง แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทความงาม เช่นงานปั้น ประเพณีลวดลายโบราณ ดังเช่นที่ปรากฏในวัดพระแก้ว งานประเภทแฝงธรรมะที่ประดับตกแต่งตามวัดวาอารามต่างๆ และประเภทความคิดซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ของครูทองร่วง ดังจะเห็นได้จากงานปั้นล้อเลียนการเมืองหรือเหตุการณ์ปัจจุบันในแนวการ์ตูน เช่นทงานปั้นหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อครั้งเข้ารับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2518 ตามมาด้วยรูปบุคคลสําคัญทั้งในและต่างประเทศอีกหลายท่าน รวมถึงงานปูนปั้นประดับ "ศาลาน.ส.อัมพร บุญประคอง ในวัดมหาธาตุวรวิหารฟ" จังหวัดเพชรบุรีมซึ่งครูทองร่วงได้นำเรื่องราวจากวรรณคดี "พระอภัยมณี" มาผนวกกับเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แล้วถ่ายทอดมาเป็นงานปูนปั้นอย่างมีแง่คิดและสวยงาม
ครูทองร่วงบอกเสมอว่า ผลงานที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตคือการที่ได้รับเชิญจากกรมศิลปากร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศิลป์สถาปัตยกรรมและประติมากรรมไทยในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ในช่วงเตรียมการฉลอง 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ ในครั้งนั้นครูทองร่วงได้เป็นผู้ออกแบบและควบคุมช่างนับร้อยให้ทำงานจนสำเร็จลุล่วงไปอย่างดียิ่ง นับเป็นเกียรติประวัติของชีวิต ตลอดจนเป็นการฝากงานฝีมือให้คนรุ่นหลังได้เห็นความสวยงามและซาบซึ้งในศิลปหัตถกรรมปูนปั้นที่ทรงคุณค่าของไทย
ปัจจุบัน ครูทองร่วงซึ่งได้ตัดสินใจที่จะบ่มเพาะช่างรุ่นหลังๆ ไว้สืบทอดศิลปะแขนงนี้จึงมุ่งเน้นการสอนเพียงอย่างเดียว ครูค่อยๆ ฝึกคนทํางานทีละ 4-5คน เพื่อหัดทำปูนปั้นลายง่ายๆ พอชำนาญสามารถทำลายยากๆ ได้ ครูจะเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์ไปรับงานเองได้เวลาใดที่มีงานใหญ่ครูจะระดมบรรดาลูกศิษย์มาร่วมกันทำืและต่อยอดด้วยการสอนคนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น วันนี้นอกจากงานศิลปะปูนปั้นลอยตัวที่งดงามราวกับมีชีวิตซึ่งครูทองร่วง ได้ทุ่มเทพลังเพื่อสร้างสรรค์คู่วัดวาอารามด้วยความตั้งใจทำเป็นพุทธบูชา ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าครูทองร่วง ยังได้มุ่งมั่นอนุรักษ์หัตถกรรมปูนปั้นแบบดั้งเดิมของช่างเพชรบุรีให้อยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป