xs
xsm
sm
md
lg

“ชิปปิ้ง” กุญแจสู่ผู้บงการหมูเถื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมูเถื่อนถูกลักลอบนำเข้ามาขายในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายมายาวนานกว่า 1 ปี เบียดเบียนตลาดให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยต้องเดือดร้อน และเข้าสู่ภาวะขาดทุน รวมถึงสร้างความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำของโรค ASF ที่เป็นสาเหตุหลักให้หมูไทยหายไปจากระบบจำนวนมาก ทั้งยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนไทยผู้บริโภคเนื้อหมูที่ไม่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร นับเป็นมะเร็งร้ายที่เกาะกินประเทศเรื่อยมา

การติดตาม ตรวจสอบ จับกุมมีออกมาเป็นระยะก็จริง แต่กลับไม่สามารถทำให้กระบวนการหมูเถื่อนหายไปจากประเทศไทยได้อย่างเด็ดขาด ทั้งๆ ที่การจับกุมในแต่ละครั้งมีหลักฐานแน่นหนาที่สามารถสาวไปให้ถึงต้นตอได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง และพบหมูเถื่อนจำนวนมาก แต่กลับจบลงตรงที่ไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับใคร ทั้งๆ ที่ข้อมูลผู้กระทำผิดน่าจะอยู่ในมือกรมศุลกากรแล้ว จึงสร้างความกังขาแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศ 

ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น?
เพราะการจะนำเข้าสินค้าใดๆ มาจนถึงท่าเรือไทยได้ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ที่สำคัญ ต้องมีการระบุชื่อ “ชิปปิ้ง“ หรือผู้นำเข้า รวมถึงชื่อเจ้าของสินค้าในตู้นั้นๆ ลงในเอกสารนำเข้า-ส่งออกด้วย 

ขออธิบายนิยามของ “ชิปปิ้ง” (shipping) ซึ่งคือ บริษัท หน่วยงาน หรือบุคคลที่เป็นตัวแทน เจ้าของสินค้า คอยทำหน้าที่ติดต่องานด้านเอกสารสำหรับการนำเข้าหรือส่งออก โดยจะทำหน้าที่ติดต่อกับหน่วยงานกรมศุลกากร เพื่อผ่านพิธีการศุลกากรซึ่งมีความซับซ้อน รวมถึงให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้า เพื่อประกอบการผ่านพิธีการ และทำการตรวจปล่อยสินค้า ตลอดจนดำเนินการจัดส่งสินค้าถึงปลายทาง สำหรับสินค้านำเข้า 

หมายความว่า กรมศุลกากรมีรายชื่อของคนเหล่านี้อยู่ในมือแน่นอน คำถามคือเหตุใดจึงไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้กระทำผิด? หรือมีใครที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง จึงปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อ ปล่อยให้เขา “หากิน” บนความเดือดร้อนของผู้อื่นมายาวนานเป็นปีๆ  “คนเพียงไม่กี่คน” เหล่านี้กำลังจะสังหารหมู่ คนเลี้ยงหมู-เขียงหมู-เกษตรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ และผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตหมูของไทยให้ล้มตายเป็นโดมิโนได้ทั้งอุตสาหกรรม 

นอกจากนี้ เมื่อถึงเวลาฝังทำลายของกลางผิดกฎหมายกลับกลายเป็นว่า “ผู้เสียหาย” ต้องลงขันช่วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้งๆ ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเป็นผู้ที่เสียหายจากการถูกหมูผิดกฎหมายเบียดเบียน ต้องหวาดหวั่นกับเชื้อโรคที่อาจกลับมา แล้วยังต้องมาเสียค่าใช้จ่ายพวกนี้ เป็นต้นทุนแฝงที่ไม่ควรต้องแบกรับ   

ผมขอเรียกร้องให้ภาครัฐ “เปิดเผยชื่อชิปปิ้ง” ทุกบริษัทที่นำเข้าหมูเถื่อน เพราะเป็นข้อต่อหนึ่งในขบวนการกระทำผิดกฎหมาย และต้องบังคับจ่ายค่าเสียหายในรูปแบบการปรับ “ค่าทำลายซากหมูเถื่อนของกลาง” จากชิปปิ้งเหล่านั้น ไม่ใช่เพียงการรอลงอาญา หรือปรับไม่กี่หมื่นบาท ดังเช่นคดีอนุสรณ์ห้องเย็น ที่ผ่านมา นอกจากนี้ หากพบตู้หมูเถื่อนในพื้นที่ท่าเรือแล้ว ขอให้ “ถอดปลั๊กไฟฟ้าทันที” ไม่ต้องรักษาความเย็นต่อ ตัดปัญหาการลอบนำตู้ออกจากท่าเรือในวันถัดๆ มา และสุดท้าย ขอให้ใช้ “ชิปปิ้ง” นั้นเป็นกุญแจไขประตูสู่ “ผู้บงการ” นำเข้าหมูเถื่อนให้ได้เสียที

โดย น.สพ.วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา
กำลังโหลดความคิดเห็น