ฉะเชิงเทรา - นักวิชาการมองเลือกตั้ง 66 มีนักการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งมากถึง 70 พรรค เป็นสิ่งสวยงามทางประชาธิปไตย วอนผู้สมัคร และพรรคการเมืองใช้นโยบายสร้างคะแนน ระบุไม่อยากเห็นภาพการใช้กระสุนนอกเกม แนะประชาชนพิจารณานโยบายพรรคที่ทำได้จริงก่อนตัดสินใจ ชี้ผลงานย้อนหลังเป็นเครื่องพิสูจน์
ผศ.นพพร ขุนค้า อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา วิเคราะห์การเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ส่งผู้สมัครมากถึง 70 พรรค ส่วนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อมีมากถึง 67 พรรคว่า เป็นความสวยงามในระบอบประชาธิปไตย เพราะหัวใจของระบอบประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง
และหัวใจของการเลือกตั้งคือพรรคการเมือง และพรรคการเมืองคือโรงเรียนสอนระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน ถือเป็นการตื่นตัวทางการเมืองที่แท้จริง
ส่วนสิ่งที่น่าตื่นเต้นคือบัญชีรายชื่อของบางพรรคที่ในลำดับหลังๆ สะท้อนได้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้เตรียมตัวที่จะเป็นรัฐมนตรี และสังเกตได้ว่าบุคคลเหล่านั้นอยู่ในบัญชีรายชื่อจากลำดับที่ 100 ลงมาจากด้านท้ายบัญชี ขณะที่บางพรรครายชื่อในลำดับบัญชีต้นๆ ของพรรคเป็นกลุ่มบ้านใหญ่ จากนั้นจึงเป็นกลุ่มนายทุนของพรรค
"ซึ่งน่าตื่นเต้นมากเพราะมีโอกาสเสี่ยงพรรคแตกสูง โดยที่ระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นทุกคนต่างล้วนอยากที่จะอยู่ในลำดับต้นๆ กันทั้งหมด และเป็นความหนักใจของผู้บริหารพรรคที่จะส่งใครขึ้นต้นก่อน ถ้าจัดลำดับไม่ดีวางตัวไม่ดีมีโอกาสทำพรรคแตกได้หลังจากการเลือกตั้งผ่านไป ส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่น่าสนใจนั้นมีอยู่เพียงประมาณ 3-4 คนใน 3 พรรคการเมืองเท่านั้น"
โดยที่โดดเด่นและมีโอกาสเป็นนายกฯ เช่น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั้นแม้มีโอกาสก็จริงแต่ว่าการตั้งรัฐบาลโดยพรรคที่ไม่ได้มีเสียงส่วนใหญ่เป็นข้างมาก รวมถึงการยอมรับของคนทั้งประเทศนั้นไม่ได้โดดเด่นอะไร ทั้งยังมีปัญหาสุขภาพด้วย
สำหรับความตื่นตัวทางการเมืองที่สะท้อนได้จากการที่มีพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนมากจะเป็นการช่วยกระตุ้นทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนทั่วไปได้มากขึ้นด้วย เนื่องจากในแต่ละพรรคนั้นต่างมีแฟนคลับของตัวเอง
อีกทั้งยังเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งรอบนี้คนจะออกมาใช้สิทธิกันมากขึ้นด้วย ที่สำคัญในเวลานี้คือพรรคการเมืองแต่ละพรรคนั้นล้วนต่างขุดนโยบายลดแลกแจกแถม หรือประชานิยมออกมาประชันกัน ซึ่งมองว่าไม่ผิดและถือเป็นสิ่งสวยงาม ขณะที่ประชาชนควรให้ความสำคัญกับนโยบายในการตัดสินใจเลือกผู้แทนของตน
"ไม่อยากเห็นภาพการใช้ทรัพยากรทางการเมืองที่เรียกว่ากระสุน ที่ทำให้มองไปไกลถึงขั้นว่าอยากให้บ้านเมืองไม่มีการซื้อเสียง โดยอยากให้พรรคการเมืองมาแข่งกันโดยนโยบายดีกว่า ในขณะที่แต่ละพรรคจะมาวิจารณ์นโยบายกันว่า อย่างนี้ทำได้ไม่ได้อย่างไร มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือหากจะพูดกันตรงๆ นั่นคือนโยบายเป็นการขายฝันนั่นเอง ส่วนการจะทำฝันให้เป็นจริงหรือไม่ เมื่อไปเป็นรัฐบาลแล้วหากทำไม่ได้จะถูกประชาชนลงโทษ จึงอยากให้ประชาชนได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายและเลือกพรรคที่ชอบมากกว่า"
ผศ.นพพร ยังบอกอีกว่า การที่พรรคการเมืองจะสื่อสารนโยบายไปถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วได้อย่างไรนั้น ปัจจุบันสื่อออนไลน์เข้าถึงได้เร็วเนื่องจากโลกเปลี่ยนไปแล้ว ทำให้พรรคการเมืองหาเสียงได้ง่ายขึ้น และต้องเร่งสร้างความเข้าใจในนโยบายที่เสนอมา
เช่น กระเป๋าตังดิจิทัล ที่หลายคนยังสงสัยว่าพรรคที่เสนอมานั้นจะทำได้จริงหรือไม่ หน้าที่ของพรรคการเมืองคือต้องไปอธิบายต่อประชาชนว่าจะทำได้จริงหรือไม่ และแหล่งเงินที่จะเอามานั้นจะไปเอามาจากไหน
และในการทำนโยบายอย่างนี้นอกจากนโยบายฉาบฉวยแล้ว อยากฝากถึงพรรคการเมืองทุกพรรคด้วยว่า เราต้องนึกถึงนโยบายที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปในอนาคตได้ด้วย และฝากถึงพี่น้องประชาชนให้ดูกันในจุดนี้ ต้องมองถึงอนาคตของประเทศด้วย
โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องมองอนาคตข้างหน้าว่าประเทศจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่นโยบายที่มาแป๊บเดียว เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วหายไป ต้องวางรากฐานให้ประเทศด้วย จึงจะเป็นนโยบายที่น่าสนใจ
และขอย้ำว่านโยบายเป็นสิ่งสวยงามของพรรคการเมืองที่จะนำเสนอต่อประชาชน ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ได้จริง สำเร็จหรือไม่สำเร็จเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วนั้นจะเป็นคำตอบเอง สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งขอให้ใช้ความสวยงามในการแข่งขันกัน ใช้นโยบายเข้าถึงประชาชนและอธิบายว่าจะดีอย่างไร
ส่วนพี่น้องประชาชนนั้นขอให้นึกถึงนโยบายของแต่ละพรรคมากกว่าไปนึกถึงอย่างอื่น อนาคตของบ้านเมืองเราต้องช่วยกัน 14 พ.ค.66 อย่านอนหลับทับสิทธิ ขอให้ออกมาใช้เสียงเลือกตั้งกันให้มากๆ