กาฬสินธุ์-สภาพอากาศแปรปรวน ร้อนระอุกลางวัน ตอนกลางคืนอบอ้าว ผอ.สถานีอุตุนิยมวิทยากาฬสินธุ์ ระบุอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 39 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 41 องศาเซลเซียส ประกาศเตือนรับมือพายุฤดูร้อนลูกแรกที่จะเกิดฝนตกฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกในห้วงวันที่ 26-29 มีนาคมที่จะถึงนี้
จากการติดตามสภาพดินฟ้าอากาศในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ 18 อำเภอ ตลอดสัปดาห์นี้ พบว่ามีอุณหภูมิค่อยๆสูงขึ้นตามลำดับ ประกอบกับความร้อนจากแสงแดดที่แผดเผาในฤดูร้อน ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อพืชสวน พืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง มะพร้าว ของเกษตรกร ที่ทยอยเหี่ยวเฉาและแห้งตาย เนื่องจากประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอ และไม่มีฝนตกในพื้นที่ติดต่อกันหลายเดือนแล้ว
นายมะณี อุทรักษ์ ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยากาฬสินธุ์ กล่าวว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ จ.กาฬสินธุ์ เข้าสู่ฤดูร้อน โดยสภาพอากาศร้อนอย่างเต็มตัวเป็นมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นตามลำดับ ในช่วงกลางวันสูงสุดเฉลี่ย 39 องศาเซลเซียส หรือกลางคืนที่ร้อนอบอ้าว ต่ำสุดเฉลี่ย 24 องศาเซลเซียส ซึ่งจากสภาพอากาศดังกล่าว นอกจากจะส่งกระทบต่อพืชสวน พืชไร่ ที่ขาดแคลนน้ำและถูกแสงแดดแผดเผาแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจ เสี่ยงต่อภาวะฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ
ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัดดังกล่าว จึงควรดูแลสุขภาพโดยไม่ไปอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้พักอยู่ในบ้าน ในที่ร่ม ไม่ทำงานช่วงกลางวันที่แสงแดดร้อนจัด หรือหากมีความจำเป็นควรที่สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด หรือมีร่มกางเพื่อเป็นร่มเงา ป้องกันแสงแดดสาดส่องถูกผิวกาย อย่างไรก็ตามอุณหภูมิระดับนี้ ในช่วงฤดูร้อนและสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ยังใกล้เคียงกับค่าปกติ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นถึง 40-41 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ สำหรับอุณหภูมิสูงสุดของ จ.กาฬสินธุ์ ที่วัดได้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ที่ 42.3 องศาเซลเซียส
อากาศที่ร้อนจัด ยังจะส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อนอีกด้วย โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือนการเกิดพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ในห้วงวันที่ 26-29 มีนาคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์และใกล้เคียงด้วย อิทธิพลของพายุฤดูร้อนลูกนี้ ซึ่งถือเป็นระลอกแรกที่จะพาดผ่านพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ จะทำให้เกิดฝนตกฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจเกิดฟ้าผ่าขึ้นได้ในบางพื้นที่
จึงขอเตือนประชาชนได้เตรียมรับมือ เช่น สำรวจอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย รวมทั้งระมัดระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน และอันตรายจากฟ้าผ่าด้วย