ศูนย์ข่าวขอนแก่น - วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่นติวเข้มร้านเกม คาราโอเกะ สกัดเป็นแหล่งมั่วสุมยาเสพติด เปิดโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจผู้ประกอบการทั้ง 26 อำเภอ ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบเกี่ยวข้อง ไม่ก่อผลกระทบต่อชุมชนและสังคม
วันนี้ (21 มี.ค.) ที่ห้องประชุมพระธาตุขามแก่น ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบกิจการ มีนางกมนรัตน์ สิมมาคำ วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยผู้ประกอบกิจการร้านเกม ร้านคาราโอเกะ
เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจาก 26 อำเภอ และผู้ประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 จำนวน 150 คน เข้าร่วมประชุม โดยมีวิทยากรจากอัยการจังหวัดขอนแก่น พันตำรวจโท เมธี ศรีวันนา รองผู้บังคับการป้องกันและปราบปราม ตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น บรรยายให้ความรู้
นางกมนรัตน์ สิมมาคำ วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ในฐานะผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในพื้นที่ มีหน้าที่และอำนาจเป็นหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบงานตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ ร้านเกม ร้านคาราโอเกะ ร้านให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวิดีทัศน์ ที่ยังพบปัญหาอันเกิดจากสถานประกอบกิจการ เช่น ร้านคาราโอเกะ ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ตในพื้นที่
หลังจากที่สถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในห้วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ขาดการตรวจติดตามและสร้างความรู้ความเข้าใจในการให้บริการตามเงื่อนไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ อย่างเคร่งครัด และอาจมีความเสี่ยงที่ร้านคาราโอเกะ ร้านเกม-ร้านอินเทอร์เน็ต ฯลฯ จะกลายเป็นแหล่งมั่วสุมของเด็ก เยาวชน และประชาชนได้
ด้านนายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นให้ความสำคัญในการจัดระเบียบสังคม มาตรการการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด และความห่วงใยต่อเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา แม้ทุกภาคส่วนจะมีมาตรการดูแลควบคุมพร้อมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสถานประกอบกิจการเป็นระยะ แต่ก็ยังพบร้านคาราโอเกะ ร้านเกม-ร้านอินเทอร์เน็ต ที่กระทำผิดระเบียบหรือเปิดโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่เสมอ
ทั้งยังมีผู้ประกอบกิจการรายใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง ด้วยการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สถานประกอบการทุกแห่งให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสังคม โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ และเกิดความร่วมมือ เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมของจังหวัดขอนแก่น ตลอดจนรณรงค์แก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนอีกทางหนึ่ง