xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยเซ็น MOU ผลักดันหญิงไทยเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กรมอนามัยพร้อมภาคีเครือข่ายร่วมลงนาม MOU โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Self Collection หวังหญิงไทยเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพิ่ม นำร่องพื้นที่ภาคอีสาน

วันนี้ (13 มี.ค.) ที่ห้องประชุมราชพฤกษ์ ชั้น 6 อาคารโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)โครงการเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Self Collection โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพัน ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น,


นพ.ชาตรี เมธาธราธิป ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น, นพ.อุดม ภู่วโรดม สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 7 ผู้แทนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วยตัวแทนจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, ไปรษณีย์จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมในกิจกรรมและขับเคลื่อนดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายแพทย์ อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า วันนี้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Self Collection นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคของพนักงานหญิงในสถานประกอบการ รวมถึงโอกาสการรับรู้และเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงได้รับอย่างแท้จริง

ด้านนายแพทย์ ชาตรี เมธาธราธิป ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กล่าวว่า โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย โดยสถิติเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทยและมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก แต่รักษาให้หายได้หากพบระยะแรกเริ่ม และเพื่อลดจำนวนหญิงไทยที่เจ็บป่วยมะเร็งปากมดลูก การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระยะแรกเริ่ม เพื่อนำไปสู่การรักษาจึงเป็นมาตรการสำคัญ

ก่อนหน้านี้ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับหญิงไทยอายุ 40-60 ปี ทุกสิทธิการรักษา โดยร่วมกับหน่วยบริการตรวจคัดกรองด้วยวิธี Pap Smear ซึ่งเป็นวิธีที่แพร่หลายและใช้โดยทั่วไปในประเทศไทยมากว่า 70 ปี หรือวิธี VIA ที่เป็นการตรวจโดยชโลมปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู ต่อมาปี 2563 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบให้เริ่มดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA Self Collection แทนการตรวจด้วยวิธี Pap Smear และ IVA เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เริ่มนโยบายตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Self Collection นำร่อง 8 เขตสุขภาพ 14 จังหวัด ในปี 2563 พบว่าผู้เข้าถึงการคัดกรองเพียงร้อยละ 10 ปี 2564 นำร่อง 41 จังหวัด พบว่าผู้เข้าถึงการคัดกรองเพียงร้อยละ 2 และปี 2565 พบว่าผู้เข้าถึงการคัดกรองเพียงร้อยละ 25




ดังนั้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง (HPV DNA Self Collection) นำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้แก่ กรมอนามัย KTB ผู้พัฒนาระบบกระเป๋าบริการสุขภาพ ร้านสะดวกซื้อ Seven extra ที่เป็นจุดกระจายชุดตรวจ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานเขตสุขภาพ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และศูนย์ที่ 7 ขอนแก่น ร่วมทำโครงการเพิ่มการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง นำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีหน่วยงานที่ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จำนวน 18 หน่วยงาน

ด้านนายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า คัดกรองมะเร็งปากมดลูกไม่ถึงร้อยละ 5 จึงได้ทำโครงการเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Self Collection เป็นการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก เป็นวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ทำให้สามารถตรวจพบผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้นและเข้าสู่การรักษาได้โดยเร็วก่อนลุกลาม ช่วยให้อุบัติการณ์และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกลดลง เมื่อเทียบกับวิธีคัดกรองในปัจจุบัน ทั้งยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น