กาญจนบุรี - นับถอยหลังอีก 1 วัน สิ้นสุดการแสดงความคิดเห็นรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง จ.กาญจน์ พบรูปแบบที่ 4 เขต 1 และ 5 ถูกวิจารณ์มากสุด
วันนี้ (12 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี กกต.กาญจนบุรี ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง 5 รูปแบบ และเปิดโอกาสให้นักการเมืองของแต่ละพรรค รวมทั้งประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งมีผู้เห็นด้วยมากที่สุด กกต.กาญจนบุรี จะส่งรูปแบบนั้นไปให้ กกต.กลาง พิจารณาในการประกาศใช้ ซึ่ง กกต.กาญจนบุรี ได้เปิดโอกาสให้แสดความคิดเห็นถึงวันที่ 13 มี.ค.2566 จึงเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ กกต.กาญจนบุรี ได้ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือก 4 รูปแบบ มีจำนวนราษฎรในเขตเลือกตั้งนับรวมต่างด้าว จำนวน 894,283 คน เฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส.1 คน จำนวน 178,857 คน ต่อมา วันที่ 3 มี.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจออกมาว่า ไม่ให้นับรวมบุคคลต่างด้าว โดยให้นับเฉพาะราษฎรที่เป็นสัญชาติไทยเท่านั้น
จากคำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้จำนวนราษฎรลดลงเหลือ 816,803 คน หายไป จำนวน 77,480 คน เหลือจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.1 คน จำนวน 163,360 คน การที่จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.1 คนลดลง ทำให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พื้นที่อำเภอที่อยู่ตามแนวชายแดน เช่น อ.เมืองกาญจนบุรี อ.ไทรโยค อ.ทองผาภูมิ และ อ.สังขละบุรี ซึ่งวันที่ 3 มี.ค.2566 กกต.กาญจนบุรีได้ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ รวมจำนวน 5 รูปแบบ
แต่รูปแบบที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางโซเชียลมากที่สุดคือ รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 4 ประกอบด้วย ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ด้วยการประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เพื่อให้จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.1 คน ใกล้กันไม่เกิน 10% ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบที่ 4 เฉพาะเขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 5
เนื่องจากรูปแบบเขตเลือกตั้งที่ 1 กกต.กาญจนบุรี ได้นำ ต.ช่องสะเดา และ ต.วังด้ง อ.เมืองกาญจนบุรี โยกไปอยู่เขตเลือกตั้งที่ 5 และโยก ต.หนองกุ่ม อ.บ่อพลอย มาอยู่เขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่งจำนวนราษฎรเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน ไม่เกิน 10% ก็จริง แต่ทำให้ฐานคะแนนเสียงที่มีอยู่ของว่าที่ผู้สมัครหลายคนหายไป
แต่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือ รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 5 ซึ่งประกอบด้วย อำเภอทองผาภูมิ (ทั้งอำเภอ) อำเภอสังขละบุรี (ทั้งอำเภอ) อำเภอไทรโยค (ทั้งอำเภอ) อำเภอศรีสวัสดิ์ (ทั้งอำเภอ) และอำเภอเมืองกาญจนบุรี (เฉพาะตำบลช่องสะเดา ตำบลวังด้ง)
ถึงแม้ว่า กกต.ยังไม่เสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต.กลางพิจารณาประกาศใช้รูปแบบใดก็ตาม แต่ลักษณะภูมิประเทศของเขตเลือกตั้งที่ 5 ล้วนเป็นพื้นที่ป่าภูเขาและแม่น้ำที่กว้างใหญ่ การเดินทางลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อไปหาเสียงนั้นลำบากต่อผู้สมัคร ส.ส.เป็นอย่างมาก บางคนถึงกับแสดงความคิดเห็นเชิงล้อเลียนแบบขำๆ ว่า “สงสัยผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 ต้องซื้อเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว เพื่อบินไปหาเสียงกันแล้ว” เป็นต้น
สำหรับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายประเทศ บุญยงค์ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ พรรคเพื่อไทย (พท.) นายพนม โพธิ์แก้ว พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พล.อ.ทำนุ โพธิ์งาม หรือเสธ.นุ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชัยวัฒน์ ไกรฤกษ์ อดีตเลขาธิการพรรครักประเทศไทย (ยังไม่ชัดเจน) และพรรคก้าวไกล (กก.) นายณัฎพัชรพงษ์ เรือนพระจันทร์ หรือเพชร