xs
xsm
sm
md
lg

“เชียงราย” เตรียมปิดถนนหน้าด่านเปิดแคตวอล์ก ดันผ้าชาติพันธุ์ซอฟต์เพาเวอร์สู่เส้นทางแฟชั่นโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - รัฐ-เอกชนเชียงรายผนึกกำลังดันผืนผ้าชาติพันธุ์พื้นถิ่น เปิดรับ 200 ดีไซเนอร์ร่วมออกแบบชิงรางวัลเกือบครึ่งล้าน ก่อนปิดถนนหน้าด่านฯแม่สายเปิดแคตวอล์กโชว์ให้กระหึ่ม เป็นซอฟต์เพาเวอร์มุ่งสู่เส้นทางแฟชั่นโลก


นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าฯ เชียงราย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทย จ.เชียงราย นายวิสูตร บัวชุม ผอ.ททท.สำนักงานเชียงราย นางนงเยาว์ เนตรประสิทธิ์ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย นายกีโยม มูเดเคเรช่า ลูฮีรีรี Digital Drector at Vathanagul Group Co-Founder at Yarrow.co.,Ltd.นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย สำนักงานวัฒนธรรม จ.เชียงราย บริษัทวัฒนกูล กรุ๊ป จำกัด แบรนด์ "YOURS" ฯลฯ ได้จัดแสดงการจัดทำลวดลายผ้าจากชาวไทยพื้นราบและกลุ่มชาติพันธุ์ตัวอย่าง 5 กลุ่ม เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอปรัชญา รัชการที่ ๙ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) จ.เชียงราย

แต่ละกลุ่มโชว์ให้เห็นถึงขั้นตอนการออกแบบลวดลาย การถักทอ และประยุกต์ใช้ในเครื่องแต่งกายยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว ทั้งกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ โดยเฉพาะกลุ่มม้ง ที่ผู้สูงวัยลงมือใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมถักทอลวดลายวิถีถิ่นลงบนผืนผ้าได้อย่างคล่องแคล่วและงดงาม ขณะที่แบรนด์ YOURS มีการนำเสื้อผ้าที่ออกแบบด้วยลวดลายชาติพันธุ์ตามความต้องการของลูกค้า ทำให้แต่ละผืนมีเพียง 1 ชุดในโลกและไม่ซ้ำแบบใด


โอกาสนี้ คณะผู้จัดงานได้ร่วมกันแถลงการจัดกิจกรรม Chiang Rai Fashion to The World 2023 และงาน Fashion to The Road รวมทั้งจัดเดินแบบจากเสื้อผ้าที่ออกแบบด้วยการใช้ลวดลายจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเชียงราย ที่ออกแบบโดยแบรนด์ YOURS และตัดเย็บโดยผู้ต้องขัง แดน 3 เรือนจำกลาง จ.เชียงราย

นายวิสูตรกล่าวว่า ขณะที่หลายประเทศใช้ซอฟต์เพาเวอร์ส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น เกาหลีใต้ใช้วง k-pop ฯลฯ สำหรับ ททท.มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรมด้วย 5 F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และเทศกาล (Festival)


กรณีของเชียงราย เมืองที่มีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากและหลากหลาย มีการประดิษฐ์ลวดลายผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ออกมามากมาย จึงสามารถนำมาส่งเสริมและพัฒนาเป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้เป็นอย่างดี ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดกิจกรรม Chiang Rai Fashion to The World 2023 เพื่อให้ลาดผ้าของเชียงรายก้าวไปสูระดับโลก โดยจะเชิญชวนดีไซเนอร์จากทั่วประเทศได้ร่วมกันออกแบบเสื้อผ้าลวดลายที่มีในเชียงราย ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 400,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล

นอกจากนี้ ทุกผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะนำไปจัดแสดงใน Fashion to The Road ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12-14 ส.ค. 2566 ณ บริเวณหน้าด่านพรมแดนไทย-เมียนมา สะพานข้ามแม่สายแห่งที่ 1 อ.แม่สาย ซึ่งจะดูแนวทางการเดินแฟชั่นที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี มาปรับใช้กับการเดินแฟชั่นบนถนนหน้าด่านพรมแดนของไทย

“เชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้ผู้ผลิตผ้าท้องถิ่น เพราะเน้นให้มีการนำลวดลายผ้าของท้องถิ่นมาออกแบบผสมแฟชั่นยุคปัจจุบัน รวมทั้งมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายส่วนหนึ่งคือลูกค้าระดับบนด้วย นอกจากนี้ยังช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศอีกทางหนึ่ง ซึ่งเชียงรายตั้งเป้าว่าตลอดปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ 4.5 ล้านคน”


นางนงเยาว์กล่าวว่า เชียงรายมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมกันกว่า 35 ชาติพันธุ์ ในแต่ละชาติพันธุ์ก็มีการแบ่งแยกย่อยออกไป เช่น ลาหู่ ก็มีทั้งลาหู่แดง ลาหู่ดำ ไทยวน ไทเขิน ไทยอง ฯลฯ ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างสืบทอดการออกแบบลวดลายผ้าปักด้วยเทคนิค ลวดลายและสีสัน แตกต่างกันไปอย่างหลากหลาย

ดังนั้น ในการประกวด Chiang Rai Fashion to The World 2023 จะมีการคัดสรรดีไซเนอร์ให้ได้จำนวน 200 ราย เข้าอบรมเกี่ยวกับลวดลายผ้าเชียงราย ซึ่งเบื้องต้นรวบรวมได้แล้วราวๆ 50-100 ลวดลาย ก่อนให้ลงมือออกแบบและคัดเลือกผลงานรอบแรกให้เหลือจำนวน 100 ราย และรอบต่อไปเหลือ 50 คน รอบสุดท้ายคัดเหลือ 8 นักออกแบบเพื่อรับรางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 2 และ 3 รวมทั้งรางวัลชมเชย 5 รางวัล

ทั้งนี้ ได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.-30 เม.ย.นี้ ผ่านทางเว็บไซต์ www.fashionchiangraitotheworld.com หรือเฟซบุ๊ก Chiang Rai Fashion to The World จัดอบรมวันที่ 1-7 พ.ค. เปิดให้ออกแบบตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-7 พ.ค. ซึ่งผลงานทั้ง 200 รายจะนำเดินแฟชั่นบนถนนเป็นครั้งแรกของภาคเหนือบริเวณหน้าด่านพรมแดน อ.แม่สาย ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และมีร้านค้าเกี่ยวกับแฟชั่นผ้าต่างๆ กว่า 100 ราย ร่วมจัดแสดงด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น