ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กรมทรัพยากรธรณีร่วมหน่วยงานพันธมิตร จัดมหกรรมเปิดโลกอุทยานธรณีเพื่อการท่องเที่ยว
ครั้งที่ 10 จังหวัดขอนแก่น หวังกระตุ้นการท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวในอุทยานธรณีขอนแก่น เผยข่าวดีล่าสุดยูเนสโกขึ้นบัญชีอุทยานธรณีขอนแก่นเป็น 1 ใน 16 อุทยานธรณีจากทั่วโลก ที่จะเข้ารับการประเมินเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกภายในปีนี้
รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างวันที่ 10 – 14 มีนาคม 2566 เวลา 17.00 – 22.00 น. ณ ตลาดต้นตาล อ.เมือง จ.ขอนแก่น กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ จ.ขอนแก่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดขอนแก่น อุทยานธรณีขอนแก่น และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดงาน“มหกรรมเปิดโลกอุทยานธรณีเพื่อการท่องเที่ยว ครั้งที่ 10 จังหวัดขอนแก่น”ตอน “Dinosaur in Love at Khon Kaen Geopark 2023
การจัดงานครั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณี ได้นำ “ไดโนเสาร์” มาเป็นตัวแทนของความรัก ความหวงแหน ความผูกพัน และเป็นหัวใจการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวของอุทยานธรณีขอนแก่น และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวธรณีวิทยาถิ่นอีสาน ภายใต้แนวคิดหลัก “Dino in Love”
ดร.ดรุณี สายสุทธิชัย ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความสำคัญ ทางธรณีวิทยาที่จะเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวในอุทยานธรณีขอนแก่น และเพื่อส่งเสริม การท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวธรณีวิทยาถิ่นอีสาน รวมถึงเพื่อส่งเสริม การยกระดับอุทยานธรณีขอนแก่นสู่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก โดยมีนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆที่น่าสนใจและเสริมสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนของเด็กและเยาวชนได้มาก
เช่น การจัดแสดงจำลองไดโนเสาร์ครบทุกสายพันธุ์ของอุทยานธรณีขอนแก่น การเปิดโรงเรียนนักล่าไดโนเสาร์สำหรับเยาวชน การจัดแสดงและจำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายอุทยานธรณี กิจกรรมชวนคนที่คุณรักมาส่องดาวตามล่าหา UFO การแสดงศิลปวัฒนธรรมจากเครือข่ายอุทยานธรณี และกิจกรรมลุ้นรับ ของที่ระลึกมากมาย เป็นต้น
ด้านนายทินกร ทาทอง ผู้ตรวจราชการกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่ากรมทรัพยากรธรณีตระหนักถึงเป้าหมายในการพัฒนาการท่องเที่ยว พร้อมกับการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานธรณี (Geoparks) ที่ถือเป็นแหล่งมรดกธรณีของชาติ และเป็นทรัพยากรที่มีศักยภาพสูงในการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณี” รวมถึงสามารถเชื่อมโยงให้เข้ากับเส้นทางการท่องเที่ยวไดโนเสาร์ของภูมิภาค อันจะช่วยประชาสัมพันธ์คุณค่าของแหล่งมรดกธรณีไทยและ การกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นไปด้วย
อุทยานธรณีขอนแก่น คือ 1 ใน 10 อุทยานธรณีของประเทศไทย ที่มีความโดดเด่นของ อาณาจักรไดโนเสาร์เนื่องจากมีการค้นพบไดโนเสาร์แห่งแรกของประทศไทย ที่เทือกเขาภูเวียง และมีการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก กว่า 5 สายพันธุ์ จนเป็นที่มาของการบูรณาการร่วมกันของจังหวัดขอนแก่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนยกระดับการพัฒนาให้เทือกเขาภูเวียงได้กลายเป็น “อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก”
และข่าวดีล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา องค์การยูเนสโกได้แจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการว่า “อุทยานธรณีขอนแก่น” คือ 1 ใน 16 อุทยานธรณีจากทั่วโลก ที่จะเข้ารับการประเมินเป็น “อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก” ภายในปีนี้ นั่นแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของพลังความร่วมมือพัฒนาอุทยานธรณีขอนแก่น ที่พวกเราได้เริ่มขับเคลื่อนมาตั้งปี 2560
“ ขอแสดงความยินดีกับชาวขอนแก่น และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการประเมินครั้งนี้ จะนำมาซึ่งความสำเร็จให้แก่ชาวขอนแก่นอีกครั้ง และทำให้ขอนแก่นเป็นต้นแบบการพัฒนาอุทยานธรณีโลก ที่สามารถขยายผลไปสู่อุทยานธรณีแห่งอื่น ๆ ทั่วประเทศและทั่วโลกได้”นายทินกรกล่าว
“อุทยานธรณีขอนแก่น” เป็นพื้นที่รวมแหล่งมรดกธรณีที่มีคุณค่าในระดับสากล และมีความเชื่อมโยงกับแหล่งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี โดยได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสมและยั่งยืน และมีการบริหารจัดการแบบมีส่วนรวมจากทุกภาคส่วน มีขนาดพื้นที่ 1,038 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมเทือกเขาภูเวียงบริเวณอำเภอภูเวียง และอำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น โดยมีความโดดเด่นของ "หุบเขาแห่งไดโนเสาร์"
อุทยานธรณีขอนแก่นจึงเป็นแหล่งมรดกธรณีของชาวขอนแก่น ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นสมบัติชาติ และใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณี และจุดเริ่มต้นเส้นทางท่องเที่ยวไดโนเสาร์ที่ของภูมิภาคและเขตพัฒนาการท่องเที่ยวธรณีวิทยาถิ่นอีสาน (จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดกาฬสินธุ์)