เพชรบูรณ์ - คนเขาค้อ 4 ตำบลรวมพลค้านแนวทางแก้ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินเขาค้อที่คาราคาซังมาตั้งแต่หลังยุคเสียงปืนแตก แถมพุ่งเป้าฮุบสิทธิที่ชาวบ้านพึงมีพึงได้คืนรัฐเป็นที่ราชพัสดุ
วันนี้ (6 มี.ค. 66) ชาวบ้าน 4 ตำบลของ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ คือ ต.เขาค้อ ต.หนองแม่นา ต.สะเดาะพง ต.ริมสีม่วง รวมตัวกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอเขาค้อ เพื่อคัดค้านเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้ง 4 ตำบล เป็นที่ราชพัสดุ ก่อนที่จะยื่นหนังสือต่อไปถึงนายอำเภอเขาค้อและผู้ว่าฯ อีกครั้ง
กลุ่มชาวบ้านระบุว่าที่ดินทำกิน/ที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ทั้ง 4 ตำบล ได้สิทธิตามระเบียบการจัดที่ดินฯ ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน 2498 ซึ่งราษฎรต้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยจังหวัดเพชรบูรณ์ทำโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่เพื่อช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ 2 โครงการได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ เมื่อ 26 กรกฎาคม 2520 คือ
ครั้งที่ 1 เส้นทางทุ่งสมอ-เขาค้อ ข้างละ 1 กม. ระยะทาง 10 กม. จำนวนพื้นที่ 12,875 ไร่ ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ เมื่อ 1 กันยายน 2519, ครั้งที่ 2 มี 2 โครงการ เส้นทางเขาค้อ-สะเดาะพง ข้างละ 1 กม. ระยะทาง 14 กม. จำนวน 17,500 ไร่ เส้นทางนางั่ว-หนองแม่นา ระยะทาง 36 กม. จำนวน 40,000 ไร่
กรมที่ดินได้ดำเนินการตามขั้นตอนถูกต้อง ระหว่างปี พ.ศ. 2520-30 กันยายน 2527 มีราษฎรได้รับใบจอง (น.ส.2) จำนวน 585 แปลง ส่วนใหญ่ยังขาดขั้นตอนการออกใบจอง (น.ส.2) ราษฎรได้เข้าอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว และประกาศเป็นกิ่งอำเภอเขาค้อ สิงหาคม 2527
ขณะที่ฝ่ายทหารขอใช้พื้นที่ 6 แปลง และจัดที่ดินให้ราษฎรตามข้อบังคับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเขต 3 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดที่ดินตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก พ.ศ. 2521 หมวดที่ 4 ว่าด้วยการจัดที่ดิน ข้อ 8 ต้องดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชนของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2498 เช่นกัน
ต่อมา พฤศจิกายน 2529 มีการประกาศเขตป่าสงวนฯ ทับโดยไม่กันพื้นที่ออก ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
กระทั่งปี 2558 กระทรวงมหาดไทยเสนอให้มีการทบทวนการจัดที่ดินผืนใหญ่ทั้งหมดทุกโครงการทั่วประเทศตามคำแนะนำของ ป.ป.ช. โดย ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเมื่อ 1 กันยายน 2558 กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี คือ 30 กันยายน 2563
ซึ่งการทบทวนการจัดที่ดินแปลงใหญ่ดังกล่าว หมายรวมถึงความเห็นของกระทรวงมหาดไทย ข้อที่ 1.1.1(2) ให้กรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการประกาศเขตป่าสงวน ที่ดินของรัฐ และประกาศเขตปฏิรูปที่ดินทับซ้อนพื้นที่การจัดที่ดินโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่ ให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยเร็ว โดยไม่ให้ราษฎรต้องเสียสิทธิ
ซึ่งได้มีการยื่นเรื่องร้องเรียนไปยัง กมธ.ป.ป.ช.เพื่อให้ช่วยเหลือราษฎรให้ได้สิทธิตามกฎหมายกำหนด และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ แต่ขณะนี้ทางภาครัฐกลับเร่งดำเนินการให้เป็นที่ราชพัสดุ เอาพื้นที่ที่ชาวบ้านได้สิทธิตามกฎหมายกลับคืนไปเป็นของรัฐ เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนที่ควรพึงมีพึงได้ตามกฎหมายกำหนด ชาวเขาค้อจึงขอคัดค้านการที่จะเอาที่ดิน บ้านของราษฎรที่ได้สิทธิตามกฎหมายไปเป็นที่ราชพัสดุจนถึงที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากย้อนประวัติศาสตร์ไปเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ประกาศ “วันเสียงปืนแตก” ที่เขาค้อ พากำลังเข้าตีหมู่บ้านเล่าลือและตีฐานของอาสาสมัครชุดคุ้มครองหมู่บ้านห้วยทรายเหนือ สังหารเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ พร้อมทั้งยึดอาวุธ ดึงชาวเขา 3,000 คนเข้าร่วมอุดมการณ์ทางการเมือง สถาปนาอำนาจรัฐแห่งแรกในประเทศไทย ไม่ขอขึ้นต่อการปกครองของรัฐไทย
25 ธันวาคม 2511 กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งกองบัญชาการผสม 394 ที่สนามบิน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เริ่มปฏิบัติการตอบโต้รวม 12 ครั้ง เช่น ยุทธการภูขี้เถ้า ยุทธการรามสูร ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 1-3 ยุทธการผาเมืองเกรียงไกร ฯลฯ ปี พ.ศ. 2514-2515 สร้างถนนแยกจากถนนพิษณุโลก-หล่มสัก ตรงบริเวณกิโลเมตรที่ 100 บ้านแคมป์สนไปยังบ้านเล่าลือ โดยดำเนินการเป็นช่วงๆ เริ่มจากกนกงาม-สะเดาะพง, เสลียงแห้ง-หนองแม่นา, บ้านป่าแดง-สามแยกรื่นฤดี เรื่อยมาถึงปี 2524-2525
ซึ่งทุกตารางกิโลเมตรของถนนจึงแลกมาด้วยชีวิตทหารกล้า-พลเรือน และหลังสงครามสงบ ปี 2525-2530 มีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก จัดสรรที่ดินพาประชาชน-ราษฎรอาสา (รอส.) เข้ามาอยู่อาศัยริมสองฝั่งทางเพื่อความมั่นคง แต่ก็เกิดปัญหาสิทธิครอบครองซับซ้อนยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้