xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อขายยาออนไลน์! สวนทุเรียนท่าใหม่ยืนต้นตายยกแปลงเสียหายกว่า 8 ล้าน เจ้าของสุดช้ำหวิดฆ่าตัวตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - สุดช้ำชาวสวนทุเรียนท่าใหม่ จันทบุรี ซื้ออาหารเสริมพืชผ่านออนไลน์รักษาอาการรากเน่า ดอกไม่งาม หวังเก็บผลผลิตขายปี 66 สุดท้ายยืนต้นตายยกแปลง เสียหายไม่ต่ำกว่า 8 ล้านบาท ร้องศูนย์ดำรงธรรมช่วย ขณะที่ สวพ.6 เก็บตัวอย่างตรวจสอบแล้ว

วันนี้ (5 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายวินัย พลอยสิทธิ์ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ว่า กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาต้นทุเรียนที่ปลูกไว้นานหลายสิบปีกำลังพากันยืนต้นตายยกแปลง หลังซื้ออาหารเสริมพืชผ่านร้านขายยาซึ่งเปิดขายผ่านยูทูป จนต้องรวมตัวกับเครือญาติที่ได้รับผลกระทบเช่นกันเข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากศูนย์ดำรงธรรม จ.จันทบุรี

โดย นายวินัย เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนเองได้เห็นโฆษณาขายยาและอาหารเสริมพืชต้นทุเรียนผ่านช่องทางยูทูป ซึ่งผู้ขายใช้ชื่อช่องอักษรย่อ “ป” โดยระบุสรรพคุณว่าจะช่วยฟื้นฟูและรักษาอาการรากเน่า โคนเน่า และช่วยกระตุ้นตาดอกในต้นทุเรียนให้เจริญเติบโต แข็งแรงอย่างรวดเร็ว

ตนเองหลงเชื่อสั่งซื้ออาหารเสริมดังกล่าวมาใช้ในวันที่ 19 ส.ค. 2565 จำนวน 25 ลิตรราคาลิตรละ 700 บาท เป็นจำนวนรวม 17,500 บาท จากนั้นได้นำอาหารเสริมพืชไปฝังเข็มตามคำแนะนำ จำนวน 238 ต้น


แต่เมื่อถึงวันที่ 29 ธ.ค.2565 พบว่าต้นทุเรียนภายในสวนมีสภาพเหี่ยวเฉาไม่สมบูรณ์ ใบกลายเป็นสีเหลืองคล้ายกำลังจะตาย โดยยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่มีการใช้อาหารเสริมตัวอื่นกับต้นทุเรียนนอกจากตัวที่สั่งซื้อ จึงมีความมั่นใจว่าอาหารเสริมพืชตัวดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้ทุเรียนยืนต้นตาย

โดยทุเรียนในสวนของตนเองเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีอายุกว่า 20 ปี ปลูกไว้ในเนื้อที่กว่า 20 ไร่ ซึ่งขณะนี้ต้นทุเรียน จำนวน 238 ต้นกำลังพากันยืนต้นตาย

“เพราะหลงเชื่อในคนขายว่าเขาทำทุเรียนเก่ง เลยให้แฟนไปซื้อยาที่โฆษณาในยูทูปมารักษาอาการโรครากเน่า และยังจะทำให้ดอกดก ซึ่งต้นทุเรียนของเรามันงามอยู่แล้วแต่เพราะอยากให้งามขึ้น แต่พอซื้อมาใช้ได้ไม่ถึง 5 เดือน อาการทุเรียนเริ่มเศร้าผิดธรรมชาติ พอถึงเดือน ธ.ค.65 ต้นเน่าทั้งแปลง ทำสวนมา 41 ปีไม่เคยเป็นแบบนี้ที่ต้นทุเรียน 238 ต้นยืนต้นตายพร้อมกัน เสียหายไม่ต่ำกว่า 7-8 ล้านบาท”


นายวินัย ยังบอกอีกว่า เมื่อให้ลูกน้องขูดต้นดูพบว่าต้นทุเรียนเน่าจากต้นไปถึงราก พอแจ้งไปที่เจ้าของยาว่าจะให้ทำยังไง เขากลับบอกให้ทำใจ ผมเครียด อยากแต่จะผูกคอตาย

แต่เมื่อตั้งสติได้จึงเดินทางไป สภ.มะขาม เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนจะขอให้เจ้าหน้าที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 หรือ สวพ. นำตัวอย่างอาหารเสริมพืชไปตรวจสอบว่าสารเคมีที่ใช้ถูกต้องตรงตามสลากหรือไม่ แต่ผ่านไปนานกว่า 1 เดือนแล้วยังไม่ได้คำตอบ


และจากการสอบถาม นายกวี เย็นสุข ชาวสวนข้างเคียงกันก็ประสบปัญหาแบบเดียวกัน และใช้สารแบบเดียวกับที่ นายวินัย ใช้ แต่ในเบื้องต้นเจ้าของสวนรายนี้ยังไม่ปักใจเชื่อถึงสาเหตุการยืนต้นตายของต้นทุเรียนภายในสวน เนื่องจากยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญนั่นคือ ฝนที่ตกมากจนเกินไปที่อาจทำให้ทุเรียนเกิดอาการรากเน่าได้

ทั้งนี้ จะต้องรอผลการตรวจสอบจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ซึ่งหลังเกิดเหตุผู้อำนวยการสำนักวิจัย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ 5 คนเข้าเก็บตัวอย่างอาหารเสริมพืช จำนวน 5 ลิตร ส่งไปกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอสนับสนุนในการตรวจสอบคุณสมบัติว่าตรงตามสลากหรือไม่แล้ว

และหากพบว่าส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตอาหารเสริมพืชไม่ตรงกับที่ระบุไว้จะทำการตรวจสอบผู้จำหน่ายต่อไปว่ามีใบอนุญาตดำเนินการถูกต้องหรือไม่ จากนั้นจึงจะสามารถดำเนินคดีตามกฎหมาย และกำหนดให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อเกษตรกรต่อไป


อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามชาวสวนอีกรายได้รับคำยืนยันว่า ปริมาณฝนที่ตกมากกว่าทุกปีอาจทำให้ทุเรียน ซึ่งถือเป็นพืชที่อ่อนไหวง่ายเกิดโรครุมเร้าได้ง่าย และในวันนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าสารตัวดังกล่าวเป็นสาเหตุของความเสียหายหรือไม่ และต้องรอหลักฐานเอกสารยืนยันจากเจ้าหน้าที่ สวพ.6 ก่อนเท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น