ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ภาคอีสานยกทัพกว่า 2 พันคนร่วมเวทีชี้แจงแนวทางปรับโครงสร้างหนี้การแก้ไขหนี้เร่งด่วน และการขอรับงบฯ สนับสนุนฟื้นฟูอาชีพตามหลักเกณฑ์ของ “กฟก.” เฮลั่นขอบคุณรัฐบาลอนุมัติงบฯ ให้ กฟก.แก้หนี้เร่งด่วนให้เกษตรกร 1,500 ล้าน
วันนี้ (26 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเรียนบุญวัฒนา ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จัดเวทีการสร้างความเข้าใจสมาชิก กฟก. เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) การแก้ไขปัญหาหนี้และการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ มี นายสำเริง ปานชาติ รองประธานกรรมการบริหาร คนที่ 2 เป็นประธานเปิดงาน นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รองประธานกรรมการบริหาร คนที่ 1 ร่วมพบปะสมาชิกในเวที
โดย นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงาน กฟก.ได้มอบหมายให้ นายวงศ์วริศ์ วงษ์จันทร์ ผอ.สำนักจัดการหนี้ฯ นายประยงค์ อัฒจักร ผอ.สำนักกิจการสาขาภูมิภาคที่ 3 นายวัชรางกูร แสนเสริม หัวหน้าสำนักงานสาขา จ.นครราชสีมา หัวหน้าสำนักงานสาขา จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ จ.อุดรธานี และเกษตรกรสมาชิก ร่วมงานจำนวนมากกว่า 2,000 คน
โอกาสนี้ เกษตรกรสมาชิก กฟก.ได้ทำหนังสือให้กำลังใจและขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่อนุมัติงบกลางให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อจัดการหนี้ให้เกษตรกร เมื่อวันอังคารที่ 21 ก.พ. 66 จำนวน 1,500 ล้านบาท เพื่อไปจัดการหนี้เร่งด่วนให้เกษตรกร
สำหรับการจัดเวทีให้ความรู้ในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจสมาชิก กฟก. ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้รับทราบถึงแนวทาง ขั้นตอนที่ถูกต้องของการปรับโครงสร้างหนี้ และสร้างความเข้าใจเรื่องกระบวนการขั้นตอนการแก้ไขหนี้เร่งด่วน การขอรับการสนับสนุนงบประมาณด้านการฟื้นฟูอาชีพตามหลักเกณฑ์ของ กฟก. ซึ่งการทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ต่างๆ นี้จะช่วยให้เกษตรกรสมาชิกได้รับทราบความชัดเจน และจัดเตรียมความพร้อมเรื่องเอกสารที่จะต้องยื่นและทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้
ในส่วนความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก. กรณีลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเอสเอ็มอี มีสมาชิกที่ได้รับสิทธิ์ร่วมโครงการ 50,621 ราย ในวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมานี้ สำนักงาน กฟก.สาขาจังหวัดได้จัดส่งแบบ ปคน.1 และแบบ ผค.1/4 ให้กับสถาบันเจ้าหนี้แล้ว เพื่อเริ่มต้นกระบวนการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ตามขั้นตอน
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิม ร้อยละ 50 ส่วนหนี้ที่เหลืออีก 50% ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กฟก. เสนอขอรับกรอบวงเงินชดเชยและดอกเบี้ยจากรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ กฟก.ได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอขอกรอบวงเงินชดเชยแล้ว วงเงินรวม 15,386,133,660 บาท แยกเป็น ธ.ก.ส. 14,059,124,803 บาท ธนาคารออมสิน 254,568,517 บาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 631,856,311 บาท และ ธนาคารเอสเอ็มอี 440,584,029 บาท สำหรับการจ่ายเงินชดเชยให้เจ้าหนี้จะจ่ายเมื่อเกษตรกรชำระหนี้ครบตามสัญญาแล้ว โดย กฟก.จะเสนอของบประมาณประจำปีทุกปีจนกว่าจะครบถ้วนตามที่เจ้าหนี้ขอชดเชย