xs
xsm
sm
md
lg

“อลงกรณ์” เร่งแก้ปัญหาประมง ดักม็อบบุกทำเนียบลั่นยกเลิกคำสั่ง คสช.-ชะลอประกาศรางวัลนำจับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - "อลงกรณ์" เร่งประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังนายกสมาคมประมงฯ ขู่ยกพลบุกทำเนียบค้านระเบียบกรมประมง ได้ผลสรุป 5 ข้อ เตรียมเสนอ รมว.เกษตรฯ พร้อมยกเลิกคำสั่ง คสช.-ชะลอประกาศรางวัลนำจับ

จากกรณีที่ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เตรียมปลุกชาวประมงทั่วประเทศรวมตัวคัดค้านระเบียบกรมประมง ที่ออกเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2665 ว่าด้วยเรื่องการจ่ายเงินสินบน เงินรางวัล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พ.ศ.2566 ที่ต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โดยมีใจความสำคัญคือผู้แจ้งความนำจับ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ผู้จับ และเจ้าหน้าที่ผู้จับจะได้รับเงินในส่วนดังกล่าว และอีกส่วนเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมทั้งการจับกุมผู้กระทำผิดจะหักค่าปรับได้ร้อยละ 60-80 (หรือตั้งแต่ 6,000 ไปจนถึง 2,400,000 บาท) แล้วแต่ความผิดที่เจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อกล่าวหา

พร้อมระบุว่า ระเบียบดังกล่าวจะเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในการจับกุมชาวประมง และอาจมีการยัดเยียดข้อกล่าวหาที่มีการกล่าวหาอยู่ในปัจจุบันจนทำให้กลุ่มประมงได้รับความเสียหาย และการออกระเบียบกรมประมงดังกล่าวไม่มีการสอบถามผู้มีส่วนได้เสียก่อน จึงพร้อมที่จะรวมตัวกดดันถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น


ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เย็นวานนี้ (8 ก.พ.) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยมี นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และกรรมการสมาคม ตลอดจนตัวแทนนายกสมาคมชาวประมง และเจ้าของเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากพระราชกำหนดประมงปี 2558 และนายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง นายเดชา ปรัชญารัตน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย เข้าร่วม

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้แถลงถึงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปเป็นแนวทางเสนอต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้ 


1.เห็นควรเสนอให้มีการปรับปรุงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง คณะกรรมการเปรียบเทียบ และหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบ พ.ศ.2561 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 170 วรรคสองและวรรคสาม แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558

2.เห็นควรยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม 3.กรณีที่มีการออกกฎระเบียบใดๆ จะต้องกำหนดห้วงเวลาก่อนการบังคับใช้เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ชาวประมง โดยกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการบังคับใช้ หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

4.มอบหมายกรมประมงหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาประเด็นความคลุมเครือในมาตรา 38 และมาตราอื่นๆ เช่น มาตรา 19 และมาตรา 20 และมาตรา 105 เป็นต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้และการตีความกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม

5.ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายขอให้ใช้หลักนิติรัฐ นิติธรรม ในการพิจารณาตั้งข้อกล่าวหาต่อชาวประมงที่กระทำผิด โดยใช้ดุลพินิจดูที่เจตนาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายบนหลักความยุติธรรม เนื่องจากพ.ร.ก.ประมงปี 2558 มีบทกำหนดโทษที่รุนแรง


และยังบอกอีกว่า รมว.เกษตรฯ มีความห่วงใยพี่น้องชาวประมง จึงมีนโยบาย 3 ป ป้อง ปราม ปราบ เพื่อเป็นแนวทางให้กรมประมงเร่งแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องชาวประมง โดยติดตามดูแลทุกประเด็นข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในทุกกลุ่ม พร้อมรับข้อเรียกร้องของทางสมาคมฯ และตัวแทนชาวประมง เพื่อให้กรมประมงนำไปพิจารณา และขอขอบคุณชาวประมงที่ได้สะท้อนปัญหาเพื่อเป็นประโยชน์ในการบูรณาการร่วมมือกันหาแนวทางแก้ไข 

พร้อมฝากไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วขอให้ใช้ดุลพินิจในการดำเนินการต่อผู้กระทำผิด โดยให้ดูที่เจตนาเป็นหลัก ทั้งนี้ ในส่วนของมาตราที่ยังเป็นปัญหาทั้งข้อจำกัดของเวลาและเงื่อนไข จะให้กรมประมงนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขต่อไป

นายอลงกรณ์ บอกว่า การออกกฎหมายต่างๆ ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายให้ได้รับความเป็นธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนประเด็นประกาศกรมประมงว่าด้วยรางวัลแก่ผู้แจ้งความนำจับที่แจ้งเบาะแสเรือประมงที่กระทำผิดกฎหมายนั้น ขณะนี้ได้ชะลอเรื่องดังกล่าวเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง



นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น