xs
xsm
sm
md
lg

กรมโยธาฯ แจง “โครงการพัฒนาคลองลำท่าแดงล่าช้า” สั่งเร่งรัดการก่อสร้างและแก้ไขจุดชำรุด บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ่างทอง - กรมโยธาธิการและผังเมืองชี้แจงกรณีชาวบ้านอำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง โวยการก่อสร้างโครงการพัฒนาคลองลำท่าแดง ใช้งบประมาณกว่า 158 ล้านบาท หลังสร้างมานานกว่า 4 ปี แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะเสร็จ พบหลายจุดชำรุดแล้ว ผนังคอนกรีตแตกร้าว สายไฟถูกปล่อยทิ้ง ราวเหล็กไม่ยึดนอต

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างที่ล่าช้านี้ เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เฉพาะบริเวณคลองลำท่าแดง อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งในระหว่างทำการก่อสร้าง ได้เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ต้องหยุดการก่อสร้างในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไป ซึ่งต่อมาได้รับการผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาก่อสร้าง โดยการคิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นผลให้สิ้นสุดสัญญาวันที่ 1 มีนาคม 2568 จากการตรวจสอบพื้นที่โครงการ พบปัญหาและงานก่อสร้างบางส่วนที่ชำรุด จึงได้สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขแล้ว ดังนี้

1.กรณีผนังคอนกรีตแตกร้าว ตามแบบโครงสร้างคอนกรีตจะกำหนดให้มีรอยต่อทุกระยะ 30 เมตร ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยร้าวบริเวณรอยต่อได้แต่ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้าง โดยผู้รับจ้างจะทำการเก็บตกแต่งรอยต่อหลังจากก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กหลังคันป้องกันแล้วเสร็จ เนื่องจากจะมีการสั่นสะเทือนในขั้นตอนการก่อสร้างถนน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเก็บตกแต่งรอยต่อได้

2.กรณีสายไฟฟ้าปล่อยทิ้งไว้ สายไฟดังกล่าวเป็นสายไฟฟ้าแสงสว่างที่ติดตั้งบริเวณกำแพงกั้นน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งบางจุดยังไม่ได้ทำการติดตั้งโคมไฟ จึงเก็บสายไฟฟ้าไว้ในกล่องต่อสาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้จ่ายกระแสไฟฟ้า หากโครงการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถต่อสายไฟฟ้ากับโคมไฟเพื่อใช้ส่องสว่างได้ทันที

3.กรณีราวเหล็กไม่ยึดนอต ราวเหล็กดังกล่าวเป็นงานราวกันตกที่ติดตั้งบนกำแพงกั้นน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งบางช่วงอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างจึงยึดนอตไม่แล้วเสร็จ และบางช่วงมีการรื้อย้ายไปแก้ไข ซึ่งกรมได้ประสานผู้รับจ้างให้ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วแล้ว

4.กรณีงานก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กล่าช้า เนื่องจากมีงานก่อสร้างงานเรียงหินและงานเทคอนกรีตโครงสร้างระเบียงบริเวณด้านหน้าคันป้องกันน้ำท่วม ซึ่งต้องใช้รถบรรทุกและเครื่องจักรในการทำงาน อาจทำให้ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กชำรุดเสียหายได้ จึงได้วางแผนก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นงานลำดับท้าย

ทั้งนี้ ขณะนี้กรมได้มีมาตรการเร่งรัดการปฏิบัติงานให้ผู้รับจ้างดำเนินงานก่อสร้างในส่วนที่เหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันมีผลการดำเนินงาน 87% โดยงานทั้งโครงการมีกำหนดการจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก และปลอดภัยต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น