พิษณุโลก - เริ่มตั้งแต่ค่ำนี้แล้ว..หลังงดจัดหนีโควิดมา 2 ปี เมืองสองแควเตรียมเปิด “งานวัดใหญ่-สมโภชพระพุทธชินราช” ยาว 7 วัน 7 คืน ถึง 2 กุมภาฯ สไตล์งานวัดเต็มรูปแบบ แต่ไม่มีมหรสพ-เมียงู-ปาเป้า เลี่ยงใช้ออแกไนซ์เช่าพื้นที่เซ้งต่อกระทบพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย
วันนี้ (27 ม.ค. 66) นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมผู้เกี่ยวข้อง จะเปิดงานสมโภชพระพุทธชินราช ปี 66 หรืองานวัดใหญ่ ที่จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ค่ำนี้ไปจนถึง 2 กุมภาพันธ์ 2566 รวม 7 วัน 7 คืน หลังจากที่ต้องงดจัดมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันโรคโควิดระบาด
อย่างไรก็ตาม งานวัดใหญ่ปีนี้ก็ประกาศงดจัดกิจกรรมงานมหรสพทุกชนิด เพื่อให้การจัดงานเป็นไปอย่างเหมาะสมตามประเพณีนิยมและวัฒนธรรมที่ดีงาม พื้นที่หน้าวิหาร ปกติที่เคยแบ่งล็อกให้เช่าออกร้าน ปีนี้ถูกเปิดโล่งเตรียมพื้นที่จัดงานสมโภชตามหลักธรรมชาวพุทธ ก็คือ เจริญพระพุทธมนต์ เปิดโอกาสพุทธศาสนิกชนได้นมัสการพระพุทธชินราชและบำเพ็ญกุศลได้อย่างสะดวก
ส่วนงานสมโภชตามหลักทางโลก คือ วงมหรสพ หรือวงดนตรี ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาเคยจ้างนักร้อง-นักดนตรี ทั้งนักร้องเพลงลูกทุ่ง คอนเสิร์ตวงดัง ลิเก ภาพยนตร์ สร้างรายได้เข้าวัดใหญ่ แต่ปีนี้ประสานงานกระชั้นชิดจึงงดมหรสพ ทั้งที่ความเป็นจริงมีล็อกขายของปกติ, ชิงช้าสวรรค์, ม้าหมุน ฯลฯ เพียงแต่ไม่มีปาเป้า และเมียงู โดยพื้นที่จัดงานไม่ได้เล็กลง อาจกระทบรายได้วงดนตรีของวัดใหญ่ไปบ้าง
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การจัดงานสมโภชวัดใหญ่ ผู้ว่าฯ พิษณุโลกเป็นประธานฝ่ายฆราวาส และเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารประธานฝ่ายสงฆ์ ประชุมจัดงานในรูปคณะกรรมการจัดงานสมโภชพระพุทธชินราชเป็นประจำปี รายได้หลักๆ คือ 1. การขายดอกไม้ธูปเทียน และเงินทำบุญ-เงินตู้หยอดต่างๆ 2. ดนตรี 3. ค่าแผงล็อก แต่ละครั้งมีเงินเข้าวัดใหญ่ประมาณ 4-5 ล้านบาท หากปีไหนภาวะเศรษฐกิจดีรายได้พุ่งถึง 7 ล้านบาท บางปีพุ่งถึง 9 ล้านบาทแค่ปีเดียว แต่อย่าไปเทียบกับวัดอื่นๆ อาทิ หลวงพ่อวัดไร่ขิง วัดไร่ขิง สามพราน จ.นครปฐม มีรายได้ระดับ 20-30 ล้านบาท
ข้อดีของงานวัดใหญ่ คือ คณะกรรมการฯ สั่งห้ามไม่ให้ใช้ทีมงาน "ออแกไนซ์" มาประมูลเช่าพื้นที่บริเวณรอบๆ วัดใหญ่แล้วนำไปขายต่อแก่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเร่ ว่ากันว่าบริษัทออแกไนซ์เคยเสนอให้เงินคณะกรรมการฯ 10-15 ล้านบาทเพื่อเอาที่วัดใหญ่เซ้งต่อ แต่คณะกรรมการฯ ไม่สนใจเพราะเกรงว่าจะไม่มีใครเข้ามาเดินในงานเพื่อซื้อขาย เพราะราคาล็อกแพง ราคาขายสินค้าก็แพงขึ้นตาม อีกทั้งกระทบต่อพ่อค้าแม่ค้าเร่ที่ผูกกันประจำนับสิบๆ ปี
ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงดำเนินการจัดเก็บค่าล็อกเองในราคาหลัก 5,000-8,000 บาทต่องาน ค่าไฟดวงละ 10 บาทต่อวัน (กรณีแม่ค้าหาบเร่) ซึ่งหากไปเทียบกับวัดดังๆ ในประเทศไทย เมื่อผ่านระบบ "ออแกไนซ์" แล้ว ขั้นต่ำเมตรละ 2 พันบาท หรือล็อกละหลักหมื่น ทำเลหัวมุมพุ่งถึงแสนบาทต่องาน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่รอบๆ บริเวณวัดใหญ่ก่อนถึงกำหนดเปิดงานค่ำนี้ พบว่ามีล็อกขายมากมายหลายร้อยเกือบถึงพันล็อก ขณะที่พื้นผิวถนนข้างๆ วัดก็มีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าขายสารพัด เช่น ละมุด เสื้อผ้า ไม้กวาด พริก หอม กระเทียม ฯลฯ ส่วนงานรื่นเริง มีม้าหมุน ชิงช้าสวรรค์ และที่สำคัญ มีจอภาพยนตร์จัดเตรียมไว้ฉายหนังกลางแปลงให้ดูแทนวงดนตรีขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ทางวัดใหญ่ยังเปิดโอกาสให้ชาวพุทธได้ขึ้นพระปรางค์ ด้านหลังวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช เพื่อไปกราบพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในเจดีย์ขนาดเล็กใจกลางพระปรางค์ ที่จะเปิดเฉพาะช่วงงานสมโภชพระพุทธชินราชและงานสำคัญทางศาสนาเท่านั้น ไม่ได้เปิดเป็นประจำ
อนึ่ง งานบุญเดือนสาม-งานวัดใหญ่ ทุกปีจะจัดในวันข้างขึ้น 6-12 ค่ำ เดือน 3 เช่นเดียวกับงานสมโภชพระพุทธชินราชที่เคยจัดกันต่อเนื่องยาวนาน เดิมเป็นแค่งานบุญ สมัยรัตนโกสินทร์ มีโขนจัดแสดง กระทั่งยุครัชกาลที่ ๖ พระมหากษัตริย์เสด็จฯ จึงจัดงานรับเสด็จ ของขายในสมัยนั้น เช่น เมี่ยง พุทรากวน ละมุด ส่วนของใช้ก็คงเป็นผ้าห่ม หมอน มุ้ง อดีตตั้งร้านหญ้าคามุงชั่วคราว ตั้งติดๆ กันไป มีพ่อค้าแม่ค้าจากเหนือ เช่น เชียงใหม่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ นำผ้านวม ผ้าห่ม ขึ้นรถไฟมาขาย พ่อค้าพิษณุโลกก็นำของพื้นบ้านมาขาย เช่น ข้าวหลาม ไม้กวาดดอกหญ้า หอม กระเทียม พริกแห้ง ส่วนมหรสพส่วนใหญ่ คือ หนังกลางแปลง ลิเก
กระทั่งต่อมาวัดใหญ่ร่วมกับจังหวัดฯ สร้างกิจกรรม เช่น ฟังเทศน์ปุจฉาชาดก บวชเนกขัมมบารมี ประกวดมารยาทไทย ประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ตอบปัญหาศีลธรรมชิงรางวัล จัดมหรสพสมโภช ลิเก ภาพยนตร์ ดนตรี พร้อมเปิดให้ขายสินค้าของดีแต่ละชุมชน จากนั้นก็แบ่งล็อกให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้ารถเร่ขาประจำนำสินค้ามาจำหน่าย ดึงดูดพุทธศาสนิกชน-นักท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด นำรายได้ไว้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารต่อไป