ลพบุรี - ใกล้ตรุษจีน เกษตรกรลพบุรีรวมกลุ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตหัวไชเท้าส่งตลาด เฉลี่ยวันละ 80-100 ตัน ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน สร้างรายได้เป็นอย่างดี ทำให้ต้องเพิ่มแรงงานเร่งเก็บผลผลิตให้ทันต่อความต้องการของตลาด
กลุ่มเกษตรกรแปลใหญ่ผู้ปลูก “หัวไชเท้า” ตำบลโคกตูม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี รวมกว่า 10 หมู่บ้าน ใช้เวลาว่างจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชไร่ และว่างเว้นจากการทำไร่ข้าวโพด มาปลูก “หัวไชเท้า” หรือหัวผักกาด ซึ่งเป็นพืชระยะสั้น ใช้ระยะเวลาการเพาะปลูก เพียง 45-50 วัน สามารถจะเก็บผลผลิตสู่ตลาดสร้างรายได้ ซึ่งเกษตรกรจะเลือกวางแผนในการเพาะปลูกเพื่อให้ผลผลิตออกทันจำหน่ายก่อนถึงเทศกาลตรุษจีนในแต่ละปี ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ผลผลิตจะถูกส่งไปตลาด 4 มุมเมือง และตลาดไท
เนื่องจากพื้นที่ตำบลโคกตูม ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกหัวไชเท้าแหล่งใหญ่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้ทุกแปลงปลูกต้องเพิ่มคนงานเร่งเก็บผลผลิตส่งตลาด ส่งผลให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากขณะนี้หัวไชเท้ากำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยแต่ละวันจะมีหัวไชเท้าออกสู่ตลาด เฉลี่ยวันละ 80-100 ตัน ซึ่งต่างจากช่วงเวลาปกติที่ไม่ตรงกับเทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพียงวันละ 30 ตัน
นายมานัส สุขเจริญ ซึ่งเป็น 1 ในเกษตรกรผู้ปลูกหัวไชเท้า ในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลโคกตูม อ.เมือง จ.ลพบุรี บอกว่า เกษตรกรผู้ปลูกหัวไชเท้าของจังหวัดลพบุรี ส่วนใหญ่หลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดไปแล้ว หรือว่างเว้นจากการทำนาในช่วงปลายฝนต้นหนาว
เกษตรกรส่วนใหญ่จะหันมาปลูกหัวไชเท้า เพื่อไม่ให้พื้นที่ว่างเปล่า ถือเป็นการสร้างรายได้หลักอีกทางหนึ่งได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผลผลิตของหัวไชเท้าที่ได้ในแต่ละปีถือเป็นการสร้างรายได้ให้คนในชุมชนอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นให้ผลผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากมีราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ ชาวบ้านที่ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกเป็นของตนเองจะมารับจ้างถอนหัวไชเท้าแล้วนำมาล้าง ตลอดจนถึงขั้นตอนการแพกนำส่งจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะมีรายได้จากการถูกจ้าง ชั่วโมงละ 35 บาท เฉลี่ยต่อวันโดยประมาณ 300-400 บาทต่อคน
สำหรับขั้นตอนการคัดหัวไชเท้ามีหัวที่ใหญ่และสวยจะถูกแพกบรรจุในถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม โดยมีราคาเฉลี่ย 100-200 บาทต่อถุงแล้วแต่ช่วงเวลา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะมีราคาดีขึ้นมาก แต่ถ้าหัวไชเท้าที่มีขนาดเล็กไม่สวยจะนำส่งเข้าโรงงานแปรรูปเป็นกุยช่ายดอง โดยราคาเข้าโรงงานจะได้กิโลกรัมละ 3-5 บาท ภายใน 1 ปีเกษตรกรจะสามารถปลูกหัวไชเท้าได้ 1-2 ครั้ง แล้วแต่จำนวนปริมาณน้ำที่มี และสภาพอากาศ เพราะหัวไชเท้าจะไม่สามารถปลูกได้ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด หรือมีฝนตกมากเกินไป
สำหรับคุณประโยชน์ของไชเท้าหัวไชเท้า มีสรรพคุณที่หลากหลายในการบำรุงและป้องกันโรค เช่น ช่วยฟื้นฟูและบำรุงผิวพรรณ การลดน้ำหนัก ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แมลงสัตว์กัดต่อยสามารถบรรเทาอาการคันลดการเจ็บปวด โรคดีซ่าน โรคริดสีดวงทวาร ความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ หัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง แก้ไข้ โรคไต โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคระบบทางเดินหายใจ