สมุทรสงคราม - ที่ปรึกษาฯ รมว.สุชาติ ส่ง ธิวัลรัตน์ มอบเงินเยียยาผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือบรรทุกน้ำมันระเบิดที่สมุทรสงคราม รวมกว่า 5 ล้านบาท
วันนี้ (19 ม.ค.) นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ได้รับมอบหมายจากนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ลงพื้นที่วัดปากสมุทร ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม มอบสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีลูกจ้างเสียชีวิตให้ทายาทต่างด้าว
จากเหตุเรือบรรทุกน้ำมันสมูธซี 22 ระเบิดภายในอู่เรือบริษัทรวมมิตรด็อคยาร์ด จำกัด ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย เสียชีวิต 8 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ประกันตนเสียชีวิตจำนวน 8 ราย ในจำนวนนี้ยืนยันตัวตนแล้ว 7 ราย โดยทั้ง 7 ราย ทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีลูกจ้างที่เสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน รวม 5,781,629.30 บาท คือ 1.นาย PIKE HTWE (ไป่ทุย) ทายาทได้รับเงิน 827,344.30 บาท 2.นาย WIN BO (วินโบ) ทายาทได้รับเงิน 824,374.83 บาท 3.นาย ZAW MIN LWIN (ซอมิน ละวิน) 820,984.50 บาท 4.นาย TIN WIN (ทินวิน) 821,017 บาท 5.นาย NAING WIN (นายวิน) 823,987.74 บาท 6.นาย THIHA (ตี๋หะ) 830,704.25 บาท และ 7.นาย KO PHYO (โกเคียว) ทายาทได้รับเงิน 823,937.36 บาท ในจำนวนนี้รวมค่าทำศพรายละ 50,000 บาท และค่าบำเหน็จชราภาพด้วย
นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความห่วงใยและเสียใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ และกำชับให้กระทรวงแรงงานเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ และญาติของลูกจ้างที่เสียชีวิตโดยด่วน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้ตน เดินทางมามอบสิทธิประโยชน์ดังกล่าวให้ทายาทผู้เสียชีวิตทั้ง 7 ราย ส่วนอีก 1 ราย ขณะนี้ศพผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่างการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคล
นางธิวัลรัตน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง กรณีลูกจ้างหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ จะได้รับค่าทดแทน 70% ของค่าจ้างตั้งแต่วันแรกที่หยุดงานแต่ไม่เกิน 1 ปี กรณีสูญเสียอวัยวะ จะได้รับค่าทดแทนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้รับการประเมินเมื่อสิ้นสุดการรักษา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความห่วงใยแรงงานต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และกำชับให้กระทรวงแรงงาน ให้ความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมอย่างเท่าเทียมกันเช่นเดียวกับแรงงานไทยทุกด้าน ซึ่งกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม พร้อมดูแลลูกจ้างผู้ประกันตน รวมถึงทายาทของผู้เสียชีวิตที่ประสบเหตุให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน และเข้าถึงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน