อุบลราชธานี - เจ้าหน้าที่ย้าย 3 ลูกเสือโคร่งของกลางที่ยึดได้เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ไปไว้ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เพราะมีพื้นที่เลี้ยงตามมาตรฐาน
ทำให้ทีมพี่เลี้ยงและสัตวแพทย์ที่ดูแลให้นมนานกว่า 2 เดือนรู้สึกใจหายเพราะผูกพันกัน
จากกรณีลูกเสือโคร่งวัยประมาณ 4 เดือนเศษ คือ มุกดา สะหวัน และข้ามโขง ซึ่งยึดมาจากผู้ต้องหาคดีค้าสัตว์ป่าได้ที่ จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมาจำนวน 4 ตัว ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ลูกเสือโคร่งที่ชื่อข้ามแดน เพศผู้ ได้ตายเพราะปอดอักเสบ มีก๊าซในกระเพาะ และจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ปัจจุบันเหลืออยู่ 3 ตัว โดยเป็นเพศเมีย 2 ตัว และผู้อีก 1 ตัว โดยลูกเสือเหล่านี้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จ.อุบลราชธานี
ล่าสุดจากการตรวจสุขภาพพบว่าลูกเสือทั้ง 3 ตัวแข็งแรง ร่าเริงตามวัย โดยค่ำวันนี้ เจ้าหน้าที่และทีมสัตวแพทย์จากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี จะนำลูกเสือทั้งหมดไปยังศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ซึ่งมีกรงเลี้ยงที่ดีกว่าและจะได้อยู่บริเวณเดียวกันกับน้องของขวัญลูกเสือโคร่งที่ยึดได้ก่อนหน้านี้
น.ส.คชรินทร์ ราชสินธุ์ นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 กล่าวถึงสาเหตุการเคลื่อนย้ายลูกเสือทั้ง 3 ตัว เนื่องจากลูกเสือโตขึ้นมาก พื้นที่ใช้ดูแลไม่กว้างขวางไม่มีความพร้อมมากพอ ขณะที่ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวากเหมาะสมกว่า มีกรง มีพี่เลี้ยง มีหมอคอยดูแลใกล้ชิดเช่นเดียวกัน ลูกเสือจะได้มีพื้นที่วิ่งเล่นในสนามด้วย
สำหรับสุขภาพหลัง “ข้ามแดน” ตาย ก็ได้นำลูกเสือทั้ง 3 ตัวไปตรวจ เพราะมีอาการป่วยเช่นเดียวกัน โดยได้รับการตรวจหาโรคในกลุ่มตระกูลแมวอย่างละเอียด ขณะนี้สุขภาพก็สมบูรณ์ร่าเริงและกินเก่ง โดยให้กินเนื้อวันละ 3 มื้อ กับนมอีก 2 มื้อ ทำให้ขณะนี้ลูกเสือแต่ละตัวมีน้ำหนักเพิ่มจากช่วงแรกที่มีน้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม เป็น 10-12 กิโลกรัม โตสมบูรณ์ตามวัยของเสือ
“การเคลื่อนย้ายลูกเสือในช่วงค่ำ ก็เพื่อให้ได้นอนหลับพักผ่อนระหว่างเดินทาง ในสภาพมีอากาศเย็นสบาย ไม่หงุดหงิด ในฐานะที่อนุบาลลูกเสือทั้ง 3 ตัวตลอด 24 ชั่วโมงนานกว่า 2 เดือน ก็รู้สึกใจหายที่ลูกเสือต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น” น.ส.คชรินทร์กล่าว
ด้านทีมพี่เลี้ยง น.ส.ศิริพัฒน์ กุลสมบัติ และ น.ส.ธนิฤฐา ที่ดี นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ กล่าวถึงความรู้สึกใจหายที่อยู่ดูแลลูกเสือมากว่า 2 เดือน ตั้งแต่เริ่มไปรับตัวมาจากจังหวัดมุกดาหาร ทำให้มีความผูกพัน แต่เมื่อไปอยู่ในที่ที่ดีกว่าสุขภาพของน้องดีขึ้น
น.ส.ศิริพัฒน์เล่าต่อว่า ตลอดเวลาที่เลี้ยงมาสองเดือนไม่ค่อยสร้างปัญหาอะไร มีแต่ดื้อกัดคนเลี้ยงก็เป็นสัญชาตญาณของน้อง คนเลี้ยงก็ต้องเล่นกับลูกเสือให้ถูกวิธี ไม่ปล่อยให้ถูกกัดให้นมเสร็จก็ออกมา แต่ช่วงนี้ที่เริ่มเล่นด้วยเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะโตขึ้นฟันเริ่มยาวและเล่นแรงขึ้น ก็ได้เลือดกันไปพอสมควร แต่ก็คิดถึง ถ้ามีโอกาสก็จะไปเยี่ยม แต่ไม่รู้จะจำกันได้หรือเปล่า