สมุทรสงคราม - ป.ป.ช.สมุทรสงคราม เผยยอดรับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตปี 2561-2565 รวม 59 ราย มากที่สุดคือ การจัดซื้อจัดจ้าง รองลงมาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
วันนี้ (22 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้แทนภาคสื่อสารมวลชนสาธารณะ รวม 41 คน เพื่อพิจารณาข้อมูลพื้นฐานในการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบจังหวัดสมุทรสงคราม เป้าหมายที่ 1 คือประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต และเป้าหมายที่ 2 คดีทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนระดับจังหวัด พ.ศ.2566-2570 รวมทั้งแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2566 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้หน่วยงานต่างๆ จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนระดับจังหวัด โดยรวบรวมข้อมูลพื้นฐานตามประเด็นยุทธศาสตร์ส่งให้สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดสมุทรสงคราม ภายในวันที่ 10 มกราคม 2566
นอกจากนี้ นางวริดา ตันบุญเอก ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม ยังได้แจ้งเรื่องกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในจังหวัดสมุทรสงคราม ว่าตั้งแต่ปี 2561-2565 มีจำนวน 9 เรื่อง รวม 59 ราย ประกอบด้วย 1.นำรถยนต์ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว จำนวน 4 เรื่อง 2.การจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 21 เรื่อง 3.อนุญาตให้ก่อสร้างและต่อเติมอาคารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 3 เรื่อง 4. ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 3 เรื่อง 5.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำนวน 19 เรื่อง 6.การบริหารงานบุคคล จำนวน 2 เรื่อง 7.การเบิกจ่ายเงินการจัดทำโครงการอันเป็นเท็จหรือไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย จำนวน 4 เรื่อง 8.ก่อสร้างถนนล้ำที่ดินเอกชน จำนวน 2 เรื่อง และ 9.เบียดบังทรัพย์สินราชการ จำนวน 1 เรื่อง ในจำนวนนี้ทาง ป.ป.ช.ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 42 เรื่องที่เหลืออีก 17 เรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ
นางวริดา กล่าวด้วยว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดมีภารกิจหน้าที่หลัก 3 ด้าน คือ 1.ด้านการป้องกันการทุจริต 2.ด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน และ 3.ด้านการปราบปรามการทุจริต ขั้นตอนการดำเนินการนั้น หากมีผู้ร้องเรียนตามกรอบอำนาจหน้าที่ 3 ด้านข้างต้นจะตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วรวบรวมเอกสารหลักฐาน พยานบุคคล พยานวัตถุ
เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาชี้มูลความผิดต่อไป เนื่องจาก ป.ป.ช.ประจำจังหวัดไม่มีอำนาจในการพิจารณา ดังนั้นหากมีผู้ไปกล่าวอ้างว่าสามารถวิ่งเต้นสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อช่วยเหลือได้ขออย่าหลงเชื่อ เพราะจะตกเป็นเหยื่อของผู้กล่าวอ้างได้ ทั้งนี้ การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด