ลำพูน - อุทยานแห่งชาติแม่ปิงผนึกกำลังทุกภาคส่วนเดินหน้าแก้ปัญหาไฟไหม้ป่าลดพื้นที่เสียหายต่อเนื่อง เริ่มปีแรกจัดกองเรือแก่งปิงอารักษ์ออกลาดตระเวนในลำน้ำแม่ปิงช่วงเหนือเขื่อนภูมิพล ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร เขตติดต่อป่า 3 จังหวัด พื้นที่เกิดไฟไหม้ป่าซ้ำซาก พร้อมตั้งด่านแพกลางน้ำปิดหัวปิดท้ายตลอดช่วงฤดูไฟป่านี้ หลังพบเป็นจุดโหว่ให้พรานลักลอบเข้าป่าจุดไฟล่าสัตว์ ยอมรับงานหนักแต่พร้อมลุยเต็มที่ ขอเพียงกำลังใจสนับสนุน
รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงนี้ทุกภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนต่างเตรียมพร้อมแผนปฏิบัติงานและมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 กันอย่างเข้มข้น รวมทั้งในส่วนของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ที่มีพื้นที่กว่า 620,000 ไร่ และเป็นเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, ลำพูน และตาก รวมทั้งมีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จังหวัดตาก โดยพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่มีไฟไหม้ป่าซ้ำซากมากที่สุดจุดหนึ่งของประเทศเฉลี่ยปีละกว่า 580,000ไร่ อย่างไรก็ตาม จากการที่ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางอุทยานแห่งชาติแม่ปิงมีมาตรการและปฏิบัติงานอย่างเข้มข้นจริงจัง เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ ทำให้ในปี 2565 สามารถลดพื้นที่เกิดไฟเหลือเพียงไม่เกิน 1,000 ไร่
นายมัญญา นาคพน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิงมีเขตติดต่อกับพื้นที่ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ซึ่งพื้นที่ป่าทั้งสามแห่งนี้ถือเป็นจุดที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซากมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศเฉลี่ยปีละกว่า 580,000 ไร่ โดยพบว่าสาเหตุหลักมาจากการหาของป่าและล่าสัตว์ของชาวบ้าน เนื่องจากพื้นที่ทำกินของชาวบ้านมีแหล่งน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพและมีรายได้จากการเพาะปลูกได้เพียงปีละ 6 เดือนเท่านั้น ดังนั้นนอกจากการลาดตระเวนป้องกันและดับไฟแล้ว ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางอุทยานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุดังกล่าวด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่ชุมชน ซึ่งพบว่าทำให้พื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านกว่า 700 ไร่ จากทั้งหมดประมาณ 1,000 ไร่ สามารถทำการเพาะปลูกทั้งปี นอกจากนี้ยังได้เข้าไปส่งเสริมอาชีพอื่นๆ อาทิ การทอผ้า
ทั้งนี้ จากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการทำงานแก้ไขปัญหาอย่างทุ่มเทจริงจังตลอดช่วงที่ผ่านมาส่งผลทำให้ปัญหาไฟไหม้ป่าในพื้นที่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม พบว่าปัญหาไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นยังคงมีอยู่ตามริมน้ำตลอดช่วงแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านพื้นที่ป่าทั้ง 3 แห่ง ช่วงเหนือเขื่อนภูมิพล ตั้งแต่เชียงใหม่ไปจนถึงตาก ระยะทางรวมประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งเกิดจากการจุดไฟล่าสัตว์ ที่อาจจะเล็ดลอดการตรวจลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นแนวตะเข็บและอยู่ในพื้นที่ห่างไกลยากต่อการเข้าถึง ดังนั้นในปีนี้ทางอุทยานแห่งชาติแม่ปิงจึงได้เริ่มจัดทำกองเรือแก่งปิงอารักษ์ ออกลาดตระเวนแม่น้ำปิงเหนือเขื่อนภูมิพลแล้วเพื่อลดไฟป่าจากการล่าสัตว์ในพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นได้รับการสนับสนุนเรือเล็กที่เหมาะสมต่อการใช้งานลาดตระเวนจำนวน 2 ลำ จากชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ในการให้เจ้าหน้าที่จากทั้ง 3 ป่าผนึกกำลังกันใช้ลาดตระเวน
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิงบอกด้วยว่า นอกจากการจัดเรือออกลาดตระเวนแล้ว ขณะเดียวกันเตรียมทำการตั้งด่านเป็นแพทางน้ำ เพื่อตรวจเรือที่ผ่านทุกลำ โดยเบื้องต้นจะตั้งด่านแพกลางน้ำ 2 จุดในลำน้ำ ได้แก่ ทางเหนือที่แก่งก้อ และทางใต้ที่สามแยกแม่ตื่น ซึ่งในการทำงานจะมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ประจำบนแพนี้ตลอดช่วงฤดูไฟป่านี้ โดยเชื่อและคาดหวังว่าการจัดเรือลาดตระเวนและการตั้งด่านแพทางน้ำดังกล่าวนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยป้องกันแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ยอมรับว่าการทำงานนี้เป็นภารกิจที่ค่อนข้างหนักและมีข้อจำกัดพอสมควร แต่เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องทุกคนพร้อมที่จะทุ่มเททำงานด้วยความเต็มใจและสุดความสามารถ โดยมีสิ่งที่ต้องการรับการสนับสนุนมากที่สุด คือ กำลังใจ
อย่างไรก็ตาม หากภาคประชาสังคมต้องการสนับสนุนเป็นสิ่งของและความช่วยเหลือต่างๆ นั้น นายมัญญาบอกว่า เบื้องต้นมองว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดจะเป็นในส่วนของแรงช่วยสนับสนุนจัดตั้งด่านแพกลางน้ำทั้ง 2 จุด พร้อมอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ เพื่อให้แสงสว่างและสามารถใช้วิทยุสื่อสารได้ นอกจากนี้เป็นในส่วนของอาหารแห้ง, น้ำดื่ม, ยารักษาโรค, ไฟฉาย, อุปกรณ์เดินป่าและกันหนาว เพื่อยังชีพในป่าระหว่างลาดตระเวน ตลอดจนสามารถให้การสนับสนุนได้ผ่านทาง “กองทุนก้อมั่งคั่ง2564” ธนาคารกรุงไทย เลขบัญชี 661-1033-0026 ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อป้องกันลดไฟและฟื้นฟูป่า ที่ดูแลโดยคณะกรรมการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอุทยานฯ ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง หรือ โทร. 06-4453-6193