xs
xsm
sm
md
lg

ปศุสัตว์ดอยสะเก็ดประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว 2 ตำบล พบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร-ห้ามเคลื่อนย้าย 30 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - ปศุสัตว์อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ออกประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวและห้ามเคลื่อนย้ายสุกรพื้นที่ 2 ตำบล หลังตรวจพบสุกรที่เลี้ยงไว้ในมูลนิธิแห่งหนึ่งมีการตายและติดเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พร้อมลงพื้นที่ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดและกำจัดซากแล้ว มั่นใจควบคุมการแพร่เชื้อได้ และไม่ติดต่อสู่คน


วันนี้ (29 พ.ย. 65) เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เข้าฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณสถานที่เลี้ยงสุกรของมูลนิธิแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านทุ่งยาว หมู่ที่ 8 ตำบลป่าป้อง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเก็บตัวอย่างเชื้อในพื้นที่เสี่ยง เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จังหวัดลำปาง

ทั้งนี้ หลังจากพบว่าสุกรที่ทางมูลนิธิแห่งนี้เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคทั้งหมด 4 ตัว ทยอยป่วยและตายลงทีละตัว จนเหลือสุกรที่เลี้ยงไว้เพียง 1 ตัวเท่านั้น ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจและเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ กระทั่งผลการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร จึงให้ดำเนินการทำความสะอาดคอก ฆ่าเชื้อโรค ทำลาย และฝังกลบสุกรอย่างถูกสุขลักษณะ

นายมงคล สิทธิรักษ์ ปศุสัตว์อำเภอสันทราย รักษาราชการแทนปศุสัตว์อำเภอดอยสะเก็ด เปิดเผยว่า ล่าสุดวันนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาฉีดพ่นยาฆ่าเชื้ออีกครั้ง และ เก็บตัวอย่างภายในพื้นที่เลี้ยงว่ายังมีเชื้อหลงเหลืออยู่หรือไม่ พร้อมแนะนำให้ผู้เลี้ยงสุกรปรับปรุงพื้นที่เลี้ยงให้ถูกสุขลักษณะ หากจะนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ ซึ่งจะเลี้ยงได้ภายหลัง 90 วันที่ตรวจพบเชื้อ เพื่อป้องกันเชื้อแพร่ระบาดไปยังพื้นที่ใกล้เคียง


นอกจากนี้ หลังจากที่มีการตรวจพบเชื้อดังกล่าว ได้ออกประกาศสำนักงานปศุสัตว์อำเภอดอยสะเก็ด โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 ให้ท้องที่บ้านทุ่งยาว ตำบลป่าป้อง บ้านแม่ดอกแดง ตำบลเชิงดอย, บ้านหนองบัวพัฒนา ตำบลเชิงดอย, บ้านป่าตึงน้อย ตำบลป่าป้อง, บ้านป่ายางงาม ตำบลป่าป้อง, บ้านตลาดขี้เหล็ก ตำบลแม่โป่ง, บ้านป่าไผ่ ตำบลแม่โป่ง, บ้านกิ่วแล ตำบลเชิงดอย เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว

ขณะเดียวกัน ห้ามเคลื่อนย้ายสุกร หรือซากของสัตว์ดังกล่าว เข้า ออก ผ่าน ภายในเขตโรคระบาดชั่วคราว เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้น ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2565

สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรนั้น ไม่สามารถติดต่อไปสู่คนและสัตว์ชนิดอื่น แต่เป็นโรคที่ก่ออาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตในสุกรและหมูป่า โดยหากเกษตรกรพบสุกรป่วยตายผิดปกติ สามารถแจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ได้โดยด่วน






กำลังโหลดความคิดเห็น