ลพบุรี - ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ประดับเครื่องหมายกลางอากาศ ให้หมอภาคย์ หัวหน้านักเรียนหลักสูตรการแทรกซึมเบื้องสูงทางยุทธวิธี และกระทำพิธีปิดการฝึกอบรมหลักสูตรแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูงทางยุทธวิธี รุ่นที่ 19 ที่ลพบุรี
วันนี้ (28 พ.ย.) พล.ท.ณัฐวุฒิ นาคะนคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ได้ร่วมกระโดดร่มจากอากาศยานแบบ MI17 ของกองทัพบก พร้อมทั้งทำการประดับเครื่องหมายกลางอากาศ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงความสามารถการแทรกซึมเบื้องสูงทางยุทธวิธี หรือ “พรานเวหา” ให้ พ.อ.นายแพทย์ภาคย์ โลหารชุน นายแพทย์ใหญ่ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ซึ่งเป็นหัวหน้านักเรียน หลักสูตรแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูงทางยุทธวิธี รุ่นที่ 19 ณ สนามกระโดดร่ม บ้านท่าเดื่อ ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมือง จ.ลพบุรี
ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ได้ทำการกระโดดร่มจากอากาศยาน พร้อมทั้งลอยตัวอยู่กลางอากาศ ที่ระดับความสูง 12,500 ฟิต เคลื่อนที่กลางอากาศโดยยังไม่กระตุกร่ม เข้าหา พ.อ.นายแพทย์ภาคย์ โลหารชุน ในลักษณะการเกาะหมู่เพื่อทำการประดับเครื่องหมายกลางอากาศ ซึ่งเป็นขีดความสามารถเฉพาะตัวของผู้นำหน่วยรบพิเศษ เมื่อประดับเครื่องหมายกลางอากาศ เรียบร้อยแล้ว จึงทำการกระตุกร่มร่อนลงสู่ที่หมายได้อย่างปลอดภัย ซึ่งถือเป็นการกระโดดร่มเที่ยวสุดท้ายของนักเรียนในหลักสูตร
หลังจากนักกระโดดร่มทุกนายลงสู่ที่หมายเป็นที่เรียบร้อยปลอดภัยแล้ว ท่านผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ พร้อมคณะ ได้ร่วมกระทำพิธีประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถการแทรกซึมเบื้องสูงทางยุทธวิธี หรือเครื่องหมาย “พรานเวหา” ที่แขนซ้ายด้านบนให้แก่นักเรียนผู้สำเร็จหลักสูตรทั้ง 80 นาย ด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมทั้งเป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมหลักสูตรแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูงทางยุทธวิธี รุ่นที่ 19 อย่างเป็นทางการ
สำหรับหลักสูตรหลักสูตรการแทรกซึมเบื้องสูงทางยุทธวิธี หรือพรานเวหา High Altitude High Opening หลักสูตรนี้ ถือเป็นอีกหลักสูตรหนึ่งของโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ คำย่อคือ HAHO (ฮาโฮ่) เป็นการกระโดดร่มสูง เปิดร่มสูง ซึ่งลักษณะการกระโดดร่มแบบนี้นักโดดจะต้องทำการกระโดดออกจากอากาศยานที่ระดับความสูงประมาณ 15,000-35,000 ฟิตจากพื้นดิน
นักโดดร่มจะต้องมีความกล้าหาญ มีสติปัญญา มีไหวพริบในการตัดสินใจ ผ่านการฝึกฝนทักษะเป็นอย่างดีทั้งร่างกายและจิตใจ นักโดดต้องสามารถเดินร่มกลางอากาศได้ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน เพื่อแทรกซึม เข้าสู่ที่หมายได้อย่างปลอดภัย และรอดพ้นจากการตรวจจับจากเรดาร์ของฝ่ายตรงข้าม โดยสามารถเดินร่มกลางอากาศเพื่อแทรกซึมเข้าสู่ที่หมายได้ห่างจากจุดที่กระโดดออกจากอากาศยานได้ไกลมากถึง 30-50 กิโลเมตร ซึ่งมีระยะการฝึกรวม 6 สัปดาห์ ทั้งการฝึกภาคพื้นดิน การฝึกผ่านสถานีจำลองต่างๆ การฝึกการทรงตัวกลางอากาศในอุโมงค์ลม ก่อนทำการกระโดดจริงจากอากาศยานทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน รวมทั้งหมด 24 ครั้ง ตลอดหลักสูตร
ทั้งนี้ พล.ท.ณัฐวุฒิ นาคะนคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กล่าวว่า ในวันนี้ผู้บังคับบัญชาการมากระทำพิธีปิดหลักสูตรแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูงทางยุทธวิธีของ โรงเรียนสงครามพิเศษ ซึ่งผู้บัญชาการจะขึ้นไปเป็นประธานในการทำพิธีประดับเครื่องหมายให้นักเรียนซึ่งเป็นหัวหน้านักเรียนในหลักสูตรนี้ และหลักสูตรแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูง ถือว่าเป็นหนึ่งในหลักสูตรของนักรบพิเศษชั้นสูง
กำลังพลที่จะเรียนได้จะต้องเป็นกำลังพลในชุดปฏิบัติการรบพิเศษ เพื่อนำขีดความสามารถในการแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูง ไปปฏิบัติภารกิจตามที่รับมอบ ซึ่งขอฝากถึงกำลังพลรบพิเศษ ทั้งที่เข้ามาใหม่ และกำลังพลที่ยังอยู่ในปัจจุบัน “เราคือนักรบพิเศษ” ขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการแทรกซึมทางอากาศ การแทรกซึมทางน้ำ ถือเป็นขีดความสามารถหนึ่งของนักรบพิเศษ เพราะฉะนั้น กำลังพลที่อยู่ในหน่วยบัญชาการสงความพิเศษสามารถที่จะเข้ามาเรียนหลักสูตรเหล่านี้ได้ ถ้าหากว่าอยู่ในระบบการศึกษาของโรงเรียนสงครามพิเศษ ยินดีเชิญชวนให้กำลังพลได้เข้ามาเรียนหลักสูตรได้