xs
xsm
sm
md
lg

ฝูงนกนางนวลอพยพหนีหนาวมาสมุทรสงคราม ทำดอนหอยหลอดกลับมาคึกคักอีกครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - ดอนหอยหลอดแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากมีนกนางนวลฝูงใหญ่อพยพหนีหนาวมาอาศัย มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมกันเป็นจำนวนมาก
           
บริเวณดอนหอยหลอด แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดสมุทรสงคราม ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม มีนกนางนวล ประมาณ 200-300 ตัว คาดว่าอพยพหนีหนาวมาอาศัยอยู่ ทำให้ช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชม และให้อาหารนก ซึ่งทำให้นกนางนวลบินโฉบลงมากินอาหาร ทำให้นักท่องเที่ยวได้ชมนกนางนวลอย่างใกล้ชิด สร้างความประทับใจและตื่นเต้นให้ผู้ที่เดินทางไปชม โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ดูจะตื่นเต้นเป็นพิเศษที่ได้เห็นนกนางนวลเป็นจำนวนมาก

โดยนักท่องเที่ยวบางรายนำอาหารไปปูเสื่อนั่งรับประทาน และชมนกนางนวลที่บินอยู่ตามชายฝั่งและที่บินอยู่บนอากาศ ขณะที่บางรายเช่าเรือชาวบ้านลงไปสัมผัสกับนกนางนวลใกล้ชิดมากขึ้น โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปรอชมนกนางนวลฝูงนี้กันตั้งแต่ช่วงเวลา 15.00 น.เป็นต้นไป จนพระอาทิตย์ตกดิน
           
นายพิสิษฐ์ หงส์หาญ ประธานชมรมรัก ณ แม่กลอง บอกว่า สถานที่ขึ้นชื่อในประเทศไทยที่เป็นแหล่งอพยพของนกนางนวล คือ ที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนที่ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม ที่ผ่านมาเคยเห็นบ้างโดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวแต่ไม่มากเหมือนปีนี้ คาดว่าประมาณ 200-300 ตัว แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวมาให้อาหารประเภทหนังไก่ทอดและกากหมูที่ได้จากการเจียวน้ำมัน ช่วงนี้ใครมาเที่ยวดอนหอยหลอด นอกจากจะได้มาหยอดหอยหลอด และมากินอาหารทะเลสดๆ แล้ว ยังจะได้ชมนกนางนวลซึ่งจะปรากฏตัวทุกวันตั้งแต่บ่าย 3 โมง เรื่อยไปจนถึงตะวันตกดินอีกด้วย
           
นายศราวุธ กล้วยจำนงค์ นายกเทศมนตรีตำบลบางจะเกร็ง กล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ดอนหอยหลอดช่วงนี้มีนกนางนวลอพยพมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางเทศบาลจะจัดเจ้าหน้าที่มาดูแลนกเหล่านี้ที่นับวันจะมีมากขึ้นเพื่อไม่ให้ใครมาทำร้าย และจะซื้ออาหารประเภทกากหมู และหนังไก่ทอดซึ่งนกนางนวลชอบกินมาเลี้ยงเพื่อให้นกมีอาหารกินนอก ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวดอนหอยหลอดให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
           
สำหรับนกนางนวลชนิดนี้ เป็นนกนางนวลธรรมดา (Brown-headed gull;) เป็นนกทะเล เป็นนกที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียกลาง เช่น เติร์กเมนิสถาน ถึงมองโกเลีย มีการบินอพยพลงใต้ในช่วงต้นฤดูหนาว (ช่วงปลายปี) มาสู่ซีกโลกตอนใต้ เช่น ไทย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เพื่อหนีหนาวและขยายพันธุ์ ลูกนกมักจะเกิดในช่วงนี้ วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ใช้เวลาฟักประมาณ 24 วัน ลูกนกใช้เวลา 3 เดือน จึงจะบินได้เอง (ราวเดือนพฤษภาคม) จากนั้นจึงจะอพยพกลับถิ่นฐานเดิม








กำลังโหลดความคิดเห็น